นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใช้จ่ายงบประมาณในวงเงิน 1,939.75 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบฯกลาง รายจ่ายเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
สำหรับค่าไฟฟ้าเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยกรอบวงเงินของ กฟน. จำนวน 356.30 ล้านบาท และเป็นกรอบวงเงินของ กฟภ. จำนวน 1,583.45 ล้านบาท โดยให้ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) รายงานว่าจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพลังงานของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้ากับประชาชน มท. โดย กฟน. และ กฟภ. ได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 (ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 21 สตางค์ต่อหน่วย ก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสามารถประมาณการงบประมาณที่ใช้ดำเนินการได้ ดังนี้
ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567
– กฟน. ผู้ใช้ไฟฟ้า 2.38 ล้านราย วงเงิน 356.30 ล้านบาท
– กฟภ. ผู้ใช้ไฟฟ้า 15.35 ล้านราย วงเงิน 1,583.45 ล้านบาท
– รวม ผู้ใช้ไฟฟ้า 17.73 ล้านราย วงเงิน 1,939.75 ล้านบาท
สงป. แจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ มท. โดย กฟน. และ กฟภ. ใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบฯกลาง รายจ่ายเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,939.75 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายในงบฯเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติและแผนการใช้จ่ายงบฯ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป
มท. แจ้งว่าการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าไฟฟ้า/ค่าครองชีพแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป
มท. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อ ครม. ตามนัยมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว