พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งข้อหาผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีทุจริต บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เพิ่มเติมอีก 5 ราย หลังสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมแล้วพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาในคดีนี้ราว 380 ล้านบาท
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งข้อหาดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 5 รายคาดว่าภายในสองสัปดาห์จะทยอยออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาได้ จากทั้งหมด 7 ราย ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่แล้ว
โดย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ดีเอสไอได้มีความเห็นทางคดีและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้อง 11 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการฯ รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่และอดีตผู้บริหารทั้งของ STARK เองและบริษัทในเครือ โดยผู้ต้องหาทุกรายถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเพื่อรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล กำหนดวันพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 14 ม.ค.68 จนถึงนัดสุดท้ายในเดือน ธ.ค.68
สำหรับความเสียหายในคดีอาญามีทั้งสิ้น 14,778 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ 9,198 ล้านบาท และหุ้นเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาท ที่ผ่านมาดีเอส และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึด/อายัดทรัพย์สินราว 3,000 ล้านบาทไว้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพยฺ (ก.ล.ต.) ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาและศาลฯก็มีคำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สินอีกส่วนหนึ่งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
นายวิทยา นีติธรรม โฆษกสำนักงาน ปปง.กล่าวว่า หลังจากเปิดให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิตามกรอบเวลา 90 วันแล้ว มีผู้มายื่นคำร้องจำนวน 3,245 ราย ซึ่งตามขั้นตอนต้องร้องต่อศาลเพื่อสั่งเฉลี่ยทรัพย์คืนตามสัดส่วนความเสียหาย คาดว่าคงดำเนินการไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะต้องรอจนกว่าคำสั่งศาลจะถึงที่สุด ส่วนผู้เสียหายที่รายชื่อตกหล่นไปก็สามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ ขณะที่กระบวนการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ปปง.นั้นไม่มีอายุความ ส่วนทรัพย์สินที่โอนไปต่างประเทศนั้นก็พบว่ามีร่องรอยที่ต้องตามสืบเช่นกัน โดยทรัพย์สินที่ยึดคืนมาได้น้อย เพราะเหตุเกิดมาตั้งแต่ปี 64 ผ่านมาเกือบสองปี ผู้ต้องหามีความรู้ดีก็ยักย้ายถ่ายโอนไปที่อื่น
ทั้งนี้ ดีเอสไออยู่ระหว่างการดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีที่มีการโอนหรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดีกับบุคคลที่โอนและรับโอนโดยมิได้มีมูลหนี้ตามกฎหมาย โดยเฉพาะการรับโอนเงินจากอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมร่วมกับสำนักงาน ปปง. เป็นคดีพิเศษที่ 32/2567 รวมทั้งดีเอสไอยังมีการพิจารณาดำเนินคดีกับกรรมการบางรายเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.มีการกล่าวหา
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.บุตธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีที่ รมว.ยุติธรรม มีคำสั่งแต่งตั้งนายพิชัย นิลทองคำ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี STARK แต่นายพิชัยขอถอนตัว ทำให้ รมว.ยุติธรรมมีคำสั่งลงวันที่ 9 ก.ค.67 ยกเลิกคำสั่งเดิมตั้งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานฯ แทน และมีการเพิ่มเลขาธิการ ก.ล.ต. นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้ามาเป็นคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าวต่อไป