สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนมิ.ย. 67 ว่า อยู่ที่ 87.2 ลดลงจาก 88.5 ในเดือนพ.ค. 67 โดยดัชนีฯ ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน โดยเป็นการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง คือ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง, กำลังซื้อผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ, ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเรือขนส่งสินค้า ทำให้ค่าระวางเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนดัชนีฯ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low season และมาตรการฟรีวีซ่า ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ, การขยายตัวของอุปสงค์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ อาเซียน อินเดีย และจีน รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท ที่ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ ส.อ.ท.คาดการณ์ค่าดัชนี 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 คาดต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่ ต.ค. 64 จากปัจจัยความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ, ความไม่แน่นอนของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ–จีน รอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น และการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3/67 ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต
ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เสนอให้ภาครัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง อาทิ ออกมาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs
2. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand: MiT)
3. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนก.ย. 67
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงประเด็นเรื่องการปิดตัวของโรงงานในประเทศไทย สาเหตุหลักมาจากความสามารถในการแข่งขันของไทย ปัญหา Geopolitics การค้าโลกที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และสินค้าส่งออกไทยที่ยังคงเป็นสินค้าเดิม ๆ ดังนั้น จึงควรเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ
ส่วนกรณีค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 67 ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 แนวทาง แต่ทุกแนวทางนั้นปรับขึ้นหมด ส.อ.ท. และที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) จึงวอนรัฐบาลช่วยลดค่าไฟ เนื่องจากค่าไฟเดิมที่ 4.18 บาท/หน่วย นั้นก็ไม่สามารถแข่งขันสู้ประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังไม่รวม FTA ที่ต่างชาติจะต้องพิจารณามากขึ้นว่า จะเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ไทยเสียโอกาสได้
สินค้าไทยไม่ถูก ต้นทุนการผลิตสูง จากทั้งค่าแรงและค่าไฟที่แพง ตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านที่เราต้องแข่งขัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่ต้นทุนถูกกว่า ประกอบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จากเดิมไทยอยู่อันดับ 3-4 ของอาเซียน แต่ปัจจุบันตกลงมาอยู่ที่อันดับ 6 แล้ว นอกจากนี้ ต้องจับตาตัวเลขการเลิกกิจการในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ที่ในรายละเอียดพบว่า ขนาดไซส์กิจการลดลง แสดงให้เห็นว่า SMEs เริ่มไม่ไหวแล้ว จากปัญหาต้นทุนสูง รวมถึงปัญหาสินค้าทะลักจากจีนด้วย ส่วนกรณีพบศพนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามจำนวน 6 คน ในโรงแรมกลางกรุง จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนนั้น ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ข่าวในลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่น และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี มองว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น หากสามารถสรุปคดีได้เร็ว และเปิดเผย ทั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนของไทยในการระมัดระวัง และคัดกรองให้มากขึ้น