คนไทยส่วนใหญ่แบกหนี้สิน 20-50% ของรายได้แต่ละเดือน ยากจน-หนี้สิน-ตกงาน ขึ้น 3 ปัญหาแรงสุด

คนไทยส่วนใหญ่แบก หนี้ สิน 20-50% ของรายได้แต่ละเดือน ยากจน-หนี้สิน-ตกงาน ขึ้น 3 ปัญหาแรงสุด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยรายงานผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ หัวข้อคนไทยกับความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน ซึ่งทำสำรวจระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,146 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากถึง 78.8% ยอมรับว่าปัญหาความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน เป็นปัญหารุนแรง ในขณะที่ 21.20% มองว่ายังไม่ค่อยรุนแรง สำหรับประชาชนที่มีหนี้สินส่วนตัวนั้น กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 70.07% ยอมรับว่ามีหนี้สินดังกล่าว ส่วนที่เหลือ 29.93% ไม่มีหนี้สินส่วนตัว

สำหรับประชาชนที่มีหนี้สินส่วนตัวนั้น พบว่า มีถึง 39.72% ที่มีสัดส่วนหนี้ราว 20-50% ของรายได้ทั้งเดือน มี 26.9% ที่มีสัดส่วนหนี้ราว 51-80% ของรายได้ทั้งเดือน ขณะที่มี 24.66% ที่มีสัดส่วนหนี้น้อยกว่า 20% ของรายได้ทั้งเดือน และมี 8.72% ที่มีสัดส่วนหนี้มากกว่า 81% ของรายได้ทั้งเดือน ในประเด็นการถูกเลิกจ้างนั้น ผลสำรวจพบว่า 47.99% ของกลุ่มตัวอย่างนั้น เคยถูกเลิกจ้าง หรือเห็นคนใกล้ตัวถูกเลิกจ้าง ขณะที่มีเกินกว่าครึ่ง หรือ 52.01% ไม่เคยเคยถูกเลิกจ้าง หรือเห็นคนใกล้ตัวถูกเลิกจ้าง

สำหรับการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในแง่การแก้ปัญหาความยากจน พบว่า 79.02% เพิ่มโอกาสในการทำงาน/จ้างงาน มี 67.57% ส่งเสริมการฝึกอาชีพ และ 66.78% ให้มีประกันสังคมที่เข้มแข่ง การแก้ไขปัญหาหนี้สินนั้น 79.16% ให้รัฐบาลสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับประชาชน มี 70.14% ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และ 62% ขยายเวลาจ่ายหนี้ ด้านการแก้ปัญหาเลิกจ้างงานนั้น มี 77.34% อยากให้ส่งเสริมการสร้างงานใหม่/ช่วยหางานใหม่ มี 66.23% สนับสนุนธุรกิจขนาดย่อม และมี 59.14% ให้ฝึกอบรมทักษะ

สำหรับแนวทางที่จะทำให้คนไทย “กินดีอยู่ดีไม่มีหนี้สิน” นั้น 77.34% โดยกลุ่มตัวอย่างมองว่าต้องมีงานทำ มีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดี อีก 21.38% เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และ 14.86% สร้างวินัยการเงินให้กับประชาชน

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า รัฐบาลจึงควรเน้นการสร้างงาน เพิ่มรายได้เพิ่มโอกาสในการทำงานและจ้างงาน ผลักดันนโยบายเรือธงที่หาเสียงไว้โดยเน้นผลลัพธ์ของโครงการที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ช่วยให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถจัดการกับหนี้สินได้ดีขึ้น

ขณะที่ อ.ดร.ศิริ ชะระอ่ำ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ปัญหาการขาดทักษะดิจิทัลซึ่งสำคัญจำเป็นต่อการประกอบอาชีพของแรงงานในปัจจุบัน การขยายตัวของการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคกลุ่มบัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงินต่างๆ ยิ่งส่งเสริมให้เกิดปัญหาพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินของครัวเรือนมีความรุนแรงยิ่งขึ้น มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ คือ การมุ่งให้ความรู้และฝึกพัฒนาทักษะดิจิทัล ซึ่งเป็น New Skill ให้กับกลุ่มผู้ว่างงานระยะสั้น และส่งเสริมโอกาสในการยกระดับทักษะอื่นๆ (Up-skill) จำเป็นต่อตำแหน่งงานตามความต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles