กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์การ ส่งออกข้าว ไทยปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมในช่วงต้นปีที่คาดการณ์ไว้ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 8.2 ล้านตัน หลังจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีปริมาณ 5.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่า 117,836 ล้านบาท หรือประมาณ 3,304 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 55.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับอินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว และค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 36-37 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 กรมฯ ได้ประชุมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อหารือแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ที่มีปัจจัยบวกจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวจากเอกชนผู้ส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและภัยแล้ง โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้มีคำสั่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากเดิม 35% เหลือ 15% จนถึงปี 2571 เพื่อควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อของสินค้าข้าวภายในประเทศ และคาดว่าในปีนี้ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าข้าวสูงถึง 4.70 ล้านตัน ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มนำเข้าข้าวประมาณ 3.60-4.30 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต จึงเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากปริมาณผลผลิตข้าวนาปีของไทยที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำสำหรับเพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากภาวะเอลนีโญคลี่คลายลง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงและแข่งขันได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามมาตรการการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวก่อนผลผลิตข้าวฤดูกาลผลิตหลักจะออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2567 อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าว ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นและมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและสถานการณ์ความผันผวนของค่าระวางเรือที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567