นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า หนี้สินภาคครัวเรือนสูง ไฟแนนซ์เข้มงวดปล่อยกู้ ทำให้ยอดผลิตรถปิกอัพลดลงไป 20-30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อาจจะต้องปรับลดกำลังแรงงานในส่วนของพนักงานรับจ้างชั่วคราวหรือซับคอนแทร็กต์ลงบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้กำลังการผลิต
สำหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในไทยที่ส่งผลกระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีมาต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นเวลา 12 เดือนต่อเนื่อง กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มรองลงมา เช่น Tier-3, Tier-4 ซึ่งเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดจิ๋ว (Micro-SMEs) จะเริ่มขาดสภาพคล่อง
ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไทยเกินกว่าครึ่งจะผลิตเพื่อป้อนตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตันเป็นหลัก จึงมีผู้ผลิตจำนวนน้อยที่ผลิตเพื่อป้อนตลาดรถยนต์นั่งเพียงอย่างเดียว สิ่งที่หลายคนเข้าใจกันว่ารถอีวีที่เข้ามาทำตลาดในไทย และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนั้น ในความเป็นจริง คือตลาดกลุ่มรถยนต์นั่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ
ในความเป็นจริง ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยส่วนใหญ่จะเผชิญปัญหาตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ต่อมาสถาบันการเงินและภาครัฐ ยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่บ้าง แต่เมื่อมาถึงปีนี้ ซึ่งผ่านพ้นโรคโควิด-19 มาแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องพึ่งตัวเองเต็มตัว เทคโนโลยีที่ส่งผลสะดุดต่อธุรกิจ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่เข้มแข็งก็อาจจะเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะสถานการณ์น่าจะยังไม่ดีขึ้นในเวลาอันใกล้นี้