กูรูมองทองในไทยสัปดาห์นี้คาดทรงตัว แต่รายย่อยยังมองสวยให้ขึ้นต่อ น้ำหนักที่ 3 แบงก์ชาติประชุมในสัปดาห์นี้

กูรูมอง ทองคำ ในไทยสัปดาห์นี้คาดทรงตัว แต่รายย่อยยังมองสวยให้ขึ้นต่อ น้ำหนักที่ 3 แบงก์ชาติประชุมในสัปดาห์นี้

ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยผลสำรวจ GRC Gold Survey เกี่ยวกับมุมมองต่อทิศทางราคาทองคำในประเทศสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 29 ก.ค. – 2 ส.ค. 2567 จากการสำรวจ GRC Gold Survey โดยศูนย์วิจัยทองคำ พบว่า 14 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำที่ได้มีส่วนร่วมตอบแบบสำรวจ ในจำนวนนี้มี 4 ราย หรือเทียบเป็น 29% คาดว่าราคาทองคำในสัปดาห์นี้จะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 3 ราย หรือเทียบเป็น 21% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 7 ราย หรือเทียบเป็น 50% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับนักลงทุนทองคำ ได้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจ จำนวน 307 ราย ในจำนวนนี้มี 165 ราย หรือเทียบเป็น 54% คาดว่าราคาทองคำในประเทศของสัปดาห์นี้จะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 116 ราย หรือเทียบเป็น 38% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 26 ราย หรือเทียบเป็น 8% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สถานการณ์ราคาทองคำในสัปดาห์ผ่านไป พบว่า ราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% ตามประกาศ สมาคมค้าทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 40,550–41,400 บาท ต่อบาททองคำ โดยราคาทองคำปิดอยู่ที่ระดับ 40,650 บาท ต่อบาททองคำ ลดลง 750 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า (สัปดาห์ก่อนหน้าปิดที่ 41,400 บาท)

ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
1. การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เกิดความคาดหวังว่า FED จะใช้การประชุมระหว่างวันที่ 30–31 กรกฎาคม 2567 เพื่อส่งสัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือน กันยายน 2567

2. การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)ในวันที่ 30–31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจากผลสำรวจ Bloomberg เปิดเผยว่า มีผู้สังเกตการณ์ของ BOJ บางรายมองว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลานี้จะสร้างความเสี่ยงในอนาคตได้

3. การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 50% ที่ BOE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563

4. รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ การเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือน กรกฎาคม 2567 โดย ISM, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานและรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเดือนกรกฎาคม 2567

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles