ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนหลักๆ จาก 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม นำโดย เงินเยนที่แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.25% (จาก 0.00-0.10%) พร้อมกับวางแนวทางการทยอยลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า ซึ่งสะท้อนสัญญาณในเชิงคุมเข้มต่อเนื่อง 2) การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 3) สถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะหลังจากการประชุมเฟด ซึ่งถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. เป็นอย่างเร็วหากเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังคงมีทิศทางชะลอตัว
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. 2567 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 35.34 ก่อนจะปิดตลาดในประเทศที่ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ก.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,647 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 22,331 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 22,333 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)
สำหรับในสัปดาห์นี้ (5-9 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. และปัจจัยทางการเมืองของไทย รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคบริการเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนก.ค. อาทิข้อมูลการส่งออกดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน