ธนาคารกรุงเทพ ชูสินเชื่อวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยพิเศษ นานสูงสุดถึง 8 ปี

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมรัฐภาคกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065 แม้จะยังมีเวลาอีกหลายสิบปี แต่ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากในบางเขตเศรษฐกิจ เช่น สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป หากสินค้าในรายการที่กำหนดมีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าที่ EU กำหนด ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ CBAM Certificate มาชดเชย ซึ่งหมายถึงการนำเข้าสินค้าของเราจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจนอาจแข่งขันได้ลำบาก และมาตรการลักษณะนี้กำลังจะถูกบังคับใช้ในอีกหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียด้วย ดังนั้น แรงกดดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งสะท้อนออกมาในทางปฏิบัติในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนสินเชื่อแก่กิจกรรมสีเขียว (Green Loan) มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความรู้และข้อมูลที่จำเป็นแก่ลูกค้า ตลอดจนอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่สินเชื่อเพื่อให้พร้อมสำหรับการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ลูกค้า เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านของลูกค้า

ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ ได้สร้างสรรค์สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability) เปิดตัวครั้งแรกภายในงาน Financing the Transition (การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ) จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสินเชื่อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ใน 3 ด้าน คือ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3) ลดการสร้างมลพิษ โดยมีข้อเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 8 ปี โดยธนาคารได้จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้รองรับความต้องการของลูกค้าถึง 10,000 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยส่งผ่านจากนโยบายมาสู่การดำเนินงานทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดตัวสินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ธนาคารกรุงเทพมั่นใจว่าจะสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดที่สนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวที่สามารถปรับตัวได้ดีและพร้อมแข่งขันท่ามกลางความท้าทายในอนาคตนายชาติศิริกล่าว

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าสินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสามารถรองรับทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงผู้ประกอบการประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีสถานประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการจะต้องมีโครงการลงทุนปรับปรุงธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมใน 3 ด้าน คือ

1) การลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปั๊มความร้อน (Heat Pump) เป็นต้น

2) การลงทุนเพื่อปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Farming Technology) ที่ช่วยลดการใช้น้ำ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง การทำโรงเรือนระบบ EVAP (Evaporative Cooling System) ที่ช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือน รวมถึงช่วยป้องกันโรคติดต่อจากภายนอก ลดการสูญเสียของผลผลิต และการลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

3) การลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการสร้างมลพิษ เช่น การลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย และการลงทุนระบบบำบัดมลพิษทางอากาศรวมถึงการลด PM 2.5 เป็นต้น

ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดหรือใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้น้ำปริมาณมาก ธนาคารช่วยสนับสนุนโครงการลงทุนให้ลูกค้านำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 70% หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน มีโครงการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วย Co-generation โดยใช้ก๊าซร้อนจากเครื่องจักรไปผลิตไอน้ำในกระบวนการผลิต แทนที่จะระบายความร้อนทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจบริการ มีหลายรายที่ลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ทันสมัยหรือใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นในระบบงานที่ใช้พลังงานมาก เช่น ระบบความร้อน/ความเย็น ระบบอัดอากาศ การให้บริษัทจัดการพลังงานเข้ามาช่วยวางแผน รวมถึงปรับปรุงสำนักงานให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร มีลูกค้าลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดในไร่อ้อย ปรับปรุงการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเปลี่ยนเครื่องยนต์สูบน้ำเป็นมอเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability)” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักธุรกิจธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศ หรือ โทร. 02 230 9679

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles