วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกได้เปิดเผย บทวิเคราะห์ในหัวข้อว่า การเปลี่ยนผู้นำของไทยเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการเมืองอันเปราะบางของไทย
โดยระบุว่า การที่รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างรวดเร็ว และได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา น่าจะช่วยรักษาความต่อเนื่องของนโยบายได้ แต่พัฒนาการล่าสุดนี้เน้นย้ำให้เห็นว่า ความผันผวนของการเมืองไทยนั้นส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เพียงใด
“เราเชื่อว่า โดยทั่วไปแล้ว แพทองธาร ชินวัตร จะสานต่อจุดยืนทางนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคที่มีอำนาจมากที่สุดในแนวร่วมรัฐบาล เรามองว่ามีความเสี่ยงระดับต่ำที่งบประมาณปีงบประมาณ 2568 จะล่าช้า…”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยกล่าวว่า รัฐบาลจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีความล่าช้า และรัฐบาลชุดล่าสุดประเมินว่า โครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณคิดเป็นประมาณ 2.4% ของจีดีพีใน 2 ปีงบประมาณ
โดยฟิทช์กล่าวว่า ยังไม่สามารถตัดสมมติฐานที่ว่าโครงการนี้อาจถูกยกเลิก ปรับเปลี่ยน หรือล่าช้าออกไปอีก อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการกระตุ้นทางการคลังของไทยจะเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดยการคาดการณ์ล่าสุดของฟิทช์ ซึ่งคำนวณรวมกรณีรัฐบาลเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดการณ์ว่าการขาดดุลทางการคลังของไทยที่ขาดดุล 2.0% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2567 และ 4.4% ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่ากลาง (median) ของประเทศในกลุ่มที่มีอันดับเครดิต “BBB” ด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3.2% ในปีงบฯ 2567 และ 3.0% ในปีงบ 2568
หากรัฐบาลลดขนาดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลง เราเชื่อว่ามีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้ทรัพยากรทางการคลังที่ว่างลงนั้นเพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินมาตรการอื่นๆ และอาจมีแรงกดดันทางการเมืองให้ต้องมีมาตรการการใช้จ่ายขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีกหลังจากปีงบประมาณ 2568 ซึ่งอาจเป็นการยากที่จะกลับมารัดเข็มขัดทางการคลังในระยะกลาง เมื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสิ้นสุดลง สิ่งนี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นนั้นใช้ไปเพียงกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แทนที่จะจัดการกับอุปสรรคในการเติบโตเชิงโครงสร้าง
สำหรับการเข้าถึงตลาดเงินตลาดทุนในประเทศของรัฐบาล และโครงสร้างหนี้ที่ดี ซึ่งมีระยะเวลาครบกำหนดชำระคืนที่นานและส่วนใหญ่เป็นหนี้ในสกุลเงินท้องถิ่น ช่วยลดความเสี่ยงบางส่วนเกี่ยวกับการที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2562
“อย่างไรก็ตาม หนี้ที่สูงขึ้นอาจจำกัดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อตอนที่เราคงอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘BBB+’ พร้อมด้วยคงแนวโน้มมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เราได้ระบุว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพอัตราส่วนหนี้สาธารณะอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ถูกปรับลดอันดับเครดิตลง”
ฟิทช์บอกอีกว่า ความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของประเทศไทยได้ขัดขวางประสิทธิภาพของการกำหนดนโยบาย ตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลของไทยนั้นมีคะแนนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับ BBB และพัฒนาการล่าสุด อาจลดโอกาสที่จะปรับปรุงตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลที่จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ที่ฟิทช์เคยคาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่าตัวชี้วัดนี้ของไทยจะดีขึ้น