นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อสังเกตและสงสัยของ ส.ว.ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท ในการทำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่ารัฐบาลยืนยันได้ว่างบประมาณดังกล่าว เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และวินัยการเงินการคลัง ยอมรับว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องมีการกู้หนี้เพิ่มเติมเพื่อเติมเงินใส่ในระบบเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจในการเดินหน้าโครงการ
ส่วนข้อสังเกตว่าเหตุใดรัฐบาลไม่จ่ายเป็นเงินสดนั้น นายจุลพันธ์ชี้แจงว่า กลไกที่รัฐบาลกำหนด เป็นกลไกใหม่ต่างจากอดีตที่แจกเป็นเงินสด เพราะอาจทำให้ประชาชนออมไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ยอมใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่หากร้านค้าต้องการจะขึ้นเป็นเงินสด ก็สามารถทำได้ในการหมุนรอบที่ 2 และเงินสดก็จะยังคงหมุนเวียนในระบบมีผลระยะยาว และกลไกนี้ไม่ใช่เพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการวางรากฐานดิจิทัลระยะยาวให้คนไทยพร้อมรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงข้อมูลประชาชนต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดนโยบายได้อย่างตรงจุด ขอย้ำว่าแอปพลิเคชันทางรัฐมีความปลอดภัยแน่นอน
นายจุลพันธ์ชี้แจงด้วยว่าสำหรับการลงทะเบียนร้านค้าที่เข้าร่วมนั้น ร้านค้าที่ไม่ได้ลงทะเบียนในระบบภาษี เช่น หาบเร่ แผงลอย ร้านก๋วยเตี๋ยว สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่จะไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ ต้องนำไปซื้อปัจจัยการผลิต ขณะเดียวกันในรายละเอียดที่พิจารณาถึงร้านสะดวกซื้อนั้น ได้พิจารณาไม่ให้กระจุกตัวที่รายใหญ่ และประชาชนมีความง่ายต่อการใช้ ทั้งนี้ ไม่สามารถกำหนดจนกระทบต่อการหมุนเวียนได้ ซึ่งการใช้จ่ายรอบสองที่เป็นร้านค้าต่อร้านค้า สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่กำหนดพื้นที่หรือจำนวนได้
“สำหรับร้านสะดวกซื้อนั้นคิดนานเพราะไม่สามารถตัดสิทธิประชาชนและร้านค้าได้ สำหรับกรณีการลงทะเบียนที่พบว่าล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนถึง 25 ล้านคนไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่อยู่ที่กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ เรียนรู้ สร้างโครงสร้างพื้นฐานในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจำนวนที่ลงทะเบียนไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้สิทธิ เนื่องจากต้องตรวจสอบฐานข้อมูล ขณะที่ร้านค้าที่ลงทะเบียน เบื้องต้นร้านธงฟ้าที่มี 2 แสนร้านค้า ลงทะเบียนแล้ว 2 หมื่นร้าน นอกจากนั้นจะให้หน่วยงานรัฐ เช่น กรมการปกครอง ขึ้นทะเบียนร้านค้าด้วย” นายจุลพันธ์ชี้แจง