นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิตนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8% ทำให้การชำระของลูกค้าสะดุดไป สภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิตทั้งระบบในไทย อาจจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยภายในไตรมาส 3 เมื่อเข้าไตรมาสที่ 4 จะเริ่มทรงตัว หรือลดลง สาเหตุจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการการจัดการหนี้เสียของตนเอง เช่น การตัดขายหนี้เสีย การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น หลังจากนี้ไป ลูกค้าจะปรับตัวได้ อิออนคาดว่าหนี้เสียจะเริ่มทรงตัวจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.4% ลูกค้าถือบัตรเริ่มคุ้นชินกับการจ่ายขั้นต่ำเป็น 8% หลังจากสะดุดไปเล็กน้อย ทำให้ยอดค้างชำระเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น
ในข่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยอมรับว่าธุรกิจบัตรเครดิตซึม อย่างไรก็ตามประเมินว่าในครึ่งปีหลังนี้ น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปัจจัยบวก ได้แก่ การใช้จ่ายช่วงเทศกาลปลายปี ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น
กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของธุรกิจอิออนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้ตั้งการเติบโต 2 หลัก จะเน้นขยายตัวใน 3 กลุ่ม คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต สถานีน้ำมัน และประกัน นอกจากนี้ จะขยายไปกลุ่มช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสเติบโตได้อีก ในแง่ฐานลูกค้าถือบัตรนั้น อิออนจะมุ่งไปสู่ลูกค้าระดับกลาง และระดับบนเพิ่มขึ้น ปกติแล้ว ฐานลูกค้าหลักจะอยู่ในกลุ่มรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น อิออนจะเพิ่มฐานลูกค้าไปในกลุ่มที่มีรายได้ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ที่ 15% ให้เพิ่มเป็น 20-30%
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) มีความเห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น โดยหลักสำคัญ ได้แก่ การผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตนั้น มีมติให้ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และร้อยละ 0.25 สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง
ในส่วนลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงร้อยละ 8 สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2567