ค่ายรถอีวีเอกชนจีนโกยกำไรมากเป็นประวัติศาสตร์ในครึ่งปีแรก บีวายดี-จีลี่-เกรทวอลล์ฟันกำไรกว่า 1 แสนล้าน

สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ปี 2024 อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นค่าย เอกชนจีน หรือค่ายรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลจีนถือหุ้นด้วยนั้น ได้รายงานผลประกอบการ โดยเฉพาะ ยอดขาย รายได้สุทธิ และกำไรสุทธิ พบว่า ค่ายผู้ผลิตยานยนต์เอกชนล้วนมีกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับค่ายผู้ผลิตยานยนต์รัฐวิสาหกิจที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิลดต่ำลงมาก มีดังนี้

บีวายดี(BYD) ปิดไตรมาสที่ 2 ปีนี้ด้วยกำไรสุทธิสูงถึง 13,600 ล้านหยวน หรือ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 65,688 ล้านบาท ซึ่งพุ่งสูงถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ที่สำคัญ ไม่เพียงทำสถิติผลกำไรสุทธิที่มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่ยังทำกำไรสูงที่สุดในบรรดา 10 แบรนด์จากค่ายผู้ผลิตยานยนต์ในจีนอีกด้วย สาเหตุจากบีวายดีสามารถผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถอีวี ซึ่งติดตั้งในรถทุกรุ่นด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ดีมาตลอดเวลา จึงกลายเป็นจุดสำคัญที่ยังมีช่องว่างในการทำกำไรสุทธิได้ดีเมื่อเทียบกับทุกค่ายรถแบรนด์สัญชาติจีนด้วยกัน

ซูโจว เซคคิวริตี้ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ซูโจว เปิดเผยว่า ในแง่ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ของบีวายดีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์การลดราคาขายภายในประเทศจีนอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้ราคาขายต่อคันมีรายได้ลดลง 15% มาอยู่ที่ 156,000 หยวน หรือ 753,480 บาท แต่ในแง่กำไรสุทธิต่อคันยังอยู่ที่ 7,800 หยวน หรือราว 36,674 บาท

จีลี่ ออโตโมบิล (Geely) เปิดเผยว่า ผลกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ พุ่งทะยานขึ้น 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ส่งผลมีกำไรสุทธิที่ 10,500 ล้านหยวน หรือกว่า 50,715 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 950,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 41% จากปัจจัยรถไฟฟ้าแบรนด์ระดับหรูหรามีชื่อว่าซีกเกอร์ (Zeekr) ส่งผลให้รายได้ต่อคันของยี่ห้อซีกเกอร์ และยี่ห้อจีลี่ รวมกันเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 129,000 หยวน หรือ 623,070 บาท 

 เกรทวอลล์ มอเตอร์ (GWM) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ มีผลกำไรสุทธิแตะ 7,000 ล้านหยวน หรือกว่า 33,810 ล้านบาท ซึ่งทะยานขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา สาเหตุจากยอดขายรถอีวีประเภทเอสยูวีขนาดใหญ่หรูหราในชื่อรุ่นแทงค์ (Tank) มียอดขายที่เติบโตดีมากในจีน ส่งผลให้รายได้ต่อคันเพิ่มสูงขึ้นถึง 21%

ในทางตรงกันข้าม ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รัฐวิสาหกิจจีน มีผลประกอบการโดยเฉพาะตัวเลขรายได้ ผลกำไรสุทธิรวมถึงรายได้สุทธิต่อคันที่ตกต่ำ ได้แก่ เอสเอไอซี หรือเสก มอเตอร์ (SAIC) รายงานผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,600 ล้านหยวน หรือกว่า 31,878 ล้านบาท ซึ่งตกต่ำลงถึง -6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ขณะที่ยอดขายรถของเอสเอไอซีตกต่ำมากถึง -12% เหลือเพียง 1.82 ล้านคัน ทำให้มียอดรายได้ต่อคันลดลง -1%

กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป หรือจีเอจี (GAG) เปิดเผยว่า ผลกำไรสุทธิดำดิ่งแรกถึง -49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา เหลือเพียง 1,500 ล้านหยวน หรือกว่า 7,245 ล้านบาท ค่ายรถยนต์รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ มีการร่วมทุนทั้งโตโยต้า และฮอนด้า

ตงเฟิง มอเตอร์ (Dongfeng) มีผลกำไรในภาพรวมก่อนหักภาษีและอื่นๆ ตกต่ำมากถึง -46% จากการร่วมทุนผลิตรถยนต์กับฮอนด้า มอเตอร์ ใยขณะที่ผลกำไรสุทธิร่วงลง -48% มาเหลือเพียง 684 ล้านหยวน หรือกว่า 3,304 ล้านบาท สาเหตุจากความสามารถในการทำกำไรของค่ายรถรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ต้นทุนการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ ได้แก่ รถอีวี รถไฮบริด และรถปลั๊กอิน-ไฮบริด ของฝั่งเอกชนควบคุมได้ดีกว่ามาก รวมถึงสงครามลดราคาขายรถอีวีในตลาดภายในประเทศที่มีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน หรือ CAAM เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา คิดเป็น 35% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles