นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า สาเหตุที่คนไทยเป็น หนี้ เพิ่มสูงมากขึ้นมาจาก 10 อันดับปัญหา ได้แก่ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 14% อันดับ 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 12.4% อันดับ 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 12% อันดับ 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 11.2%
อันดับ 5.ล้มเหลวจากการลงทุน 9.7% อันดับ 6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 8.8% อันดับ 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 7.7% อันดับ 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 7% อันดับ 9.ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน 4.1% และอันดับ 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน 3.9%
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเกี่ยวกับการเก็บออมเงินของคนไทยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินในปัจจุบัน พบว่า 48.1% ไม่เคยเก็บออม มี 22.6% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป ถัดมามี 16% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน ต่อมามี 13.3% มีแต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน อย่างไรก็ตาม มี 46.8% มีการเก็บออมเทียบกับปี 2566
เมื่อเปรียบเทียบรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนไทย ในปัจจุบัน พบว่า มี 46.3% รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย มี 35% รายได้ของครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย และมี 18.7% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย ในกรณีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย พบว่า 55% จะกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ มี 25.1% ใช้วิธีประหยัด/ลดค่าใช้จ่าย มี 10.4% จะดึงเงินออมออกมาใช้ และ 9.5% จะหารายได้เพิ่ม
สำหรับแหล่งการกู้ยืมมี 9 ช่องทางที่นิยมมีดังนี้ อันดับ 1.กดเงินสดจากบัตรเครดิต 24.8% อันดับ 2.กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 23.7% อันดับ 3.กู้เงินจากธนาคารเฉพาะกิจ 21.2% อันดับ 4.การจำนำสินทรัพย์ 7.9% อันดับ 5.กู้เงินจากสหกรณ์ 7.6% อันดับ 6.กู้ยืมจากญาติพี่น้อง 7.3% อันดับ 7.กู้ยืมจากนายทุน 6.0% อันดับ 8.ขายสินทรัพย์ 0.9% และอันดับสุดท้าย 9.บริษัทให้สินเชื่อ 0.6%
ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีมากถึง 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และมี 28.4% ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุที่ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น