สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้เรียกได้ว่ายังไม่ไปไหนมาไหน แม้จะมีตัวเลขจากหลายหน่วยงานโชว์ถึงความขยับเขยื้อนไปข้างหน้าของเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงและความรู้สึกของประชาชนอาจจะยังรู้สึกว่าไม่ได้ต่างจากช่วงวิกฤตเท่าไร เพราะปัจจุบันนอกจากค่าครองชีพจะสูง อะไรๆ ก็แพง แถมมีหนี้ที่ไม่จบไม่สิ้น จ่ายไปเท่าไรไม่เคยพอ ยอดดอกเบี้ยแทบไม่ลด กดดันทั้งรายได้ ความรู้สึก และเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 พบว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 606,378 บาท เป็นจำนวนที่มากสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 2552 โดยหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% แยกเป็นหนี้ในระบบ 69.9% และหนี้นอกระบบ 30.1% ประเภทหนี้ อันดับ 1 ก็คือ หนี้บัตรเครดิต รองลงมา หนี้ยานพาหนะ, หนี้ส่วนบุคคล, หนี้ที่อยู่อาศัย, หนี้ประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือสาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ใน 5 เรื่องต้นๆ อันดับแรกมาจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อันดับสองคือกรณีมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน อันดับสามเป็นเรื่องค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น อันดับต่อมาคือภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น และสุดท้ายคือความล้มเหลวจากการลงทุน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.4% ตอบว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่ม รองลงมา 32.3% หนี้เพิ่มเท่ากับรายได้เพิ่ม และอีก 21.3% ระบุว่าหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ที่น่าตกใจคือกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 99.7% ตอบว่ามีหนี้ มีแค่ 0.3% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน
ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขระดับหนี้ครัวเรือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ที่รายงานว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทย ไตรมาส 1 ปี 67 อยู่ที่ระดับ 90.8% ของ GDP ลดลงจากไตรมาสก่อนแค่เล็กน้อย (ไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 91.4% ของ GDP) จากสินเชื่อครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ซึ่งในจำนวนหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 1/67 เป็นสัดส่วนของสินเชื่อบ้าน 34% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% สินเชื่อเช่าซื้อ 11% สินเชื่ออื่นๆ 9% และสินเชื่อบัตรเครดิต 3%
อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่าสาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีนี้เพิ่มสูงขึ้น อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจ เพราะจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่หนี้ที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยาด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติด้วย
ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ชัดเจนว่าเป็นการกู้ไปเพื่อทำอะไร ซื้ออะไร ดูว่าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ และมีคลินิกแก้หนี้ที่ชัดเจน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะสะท้อนได้ว่าถ้าเศรษฐกิจที่ไม่ดีก็จะทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น
ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มองว่าจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะไม่สามารถเติบโตในรูปแบบเดิมได้แล้ว สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งของครัวเรือนมากขึ้น แม้ว่าในการเติบโต Norminal GDP จะเติบโตจาก 100 เป็น 180 แต่เมื่อพิจารณาจากรายไดัครัวเรือนยังค่อนข้างห่างพอสมควร และมองไปข้างหน้า GDP มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการเน้นเติบโตของ GDP แต่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
สัดส่วนรายได้ธุรกิจกระจุกตัวมากขึ้น ความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แบบเดิมไม่ได้ จากที่เมื่อก่อนสูงกว่าเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดฯแต่ปัจจุบันสัดส่วน FDI ของไทยค่อนข้างนิ่ง สวนทางกับเวียดนาม และอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น สะท้อนว่าไทยจะนั่งเพื่อรอ FDI เข้ามาไม่ได้แล้ว เพราะไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (TTB Analytics) ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนไทยน่าเป็นห่วง และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 91.4% ต่อ GDP หรือมีมูลค่าประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสาเหตุก็มองคล้ายๆ กับแบงก์ชาติ และหอการค้าไทย ที่หลักๆ แล้วจะมาจาก 3 สาเหตุ คือ
- เศรษฐกิจและระดับรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยภาคที่ขับเคลื่อนธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) เป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ทำให้ฐานะทางการเงินของ SMEs ยังมีความเปราะบาง และกระทบไปถึงภาคแรงงาน ส่งผลต่อเนื่องไปยังครัวเรือนบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป
- ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ส่อกระทบไปจนกลายเป็นหนี้เสีย
และ 3. พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ก็จะทำให้หนี้ครัวเรือนภาพรวมสูงขึ้น เมื่อสูงก็เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แต่รายงานของทีทีบีกลับมองต่าง คือการมีหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถ ทีทีบีมองว่าเป็นหนี้ที่ “ไม่สร้างรายได้” ในสัดส่วนค่อนข้างสูง และยังอยู่ในอัตราที่เกินกว่า 80% ต่อ GDP มาตั้งแต่ปี 2558 ขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงไปในอัตราที่มากพอให้เศรษฐกิจได้หายใจหายคอจากหนี้ ที่ฉุดรั้งไว้ ในจำนวนนี้คือหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อบ้าน มูลค่าสะสมอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33.8% ของมูลค่าหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ขยายตัว 4.6%, สินเชื่อส่วนบุคคล มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.3% ขยายตัว 3.5% ซึ่งเหตุผลที่หนี้กลุ่มนี้เพิ่มก็มาจากสภาพคล่อง เรียกง่ายๆ ภาษาชาวบ้านก็คือกู้มาหมุน เพราะบางกลุ่มรายได้ยังไม่ฟื้น จำเป็นต้องใช้เงิน หรือเอาไปจ่ายหนี้เดิม หรือรีไฟแนนซ์ เป็นต้น
ยังไม่รวมไปถึงหนี้ที่เป็นสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ สินเชื่อรถ ที่เห็นๆ ตัวเลขโดยรวมชะลอลง ก็เพราะหลังๆ มาแบงก์หรือสถาบันการเงินต่างก็พากันเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เงื่อนไขมากขึ้น ยิบย่อย จำกัด ก็ทำให้หลายคนกู้ก็อาจไม่ผ่านง่ายๆ ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อมากขึ้น ตัวเลขหนี้จึงถูกแบงก์คุมไว้ไม่ให้เพิ่ม
เมื่อที่มาที่ไปคือหนี้ ก็วนกลับมาที่เดิม คือกำลังซื้อ สภาพคล่อง คนมีหนี้ก็จ่ายแค่ขั้นต่ำ ทำให้ดอกเงินต้นไม่ลด ระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ละคนอยู่ในภาวะรัดเข็มขัด ก็กระทบต่อกันเป็นทอดๆ ไปยังธุรกิจ ร้านค้า ร้านขาย ท่องเที่ยว คนเที่ยวน้อยลง ประหยัดการเดินทาง และอีกหลายเหตุผลมากมาย วกวนกันไปกลับมาสู่จุดเดิม นั่นก็คือเศรษฐกิจ จากที่หลายฝ่ายหวังว่าพ้นจากหลุมโควิด ผ่านเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ จะวิ่งได้ปร๋อ แต่ดันมีอะไหล่บางตัวเป็นสนิม ก็ทำให้วิ่งช้าลง ถ้าไม่ซ่อมหรือเปลี่ยน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2568 ที่มีรัฐบาลชุดใหม่บริหารงานอย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะมีงบประมาณแผ่นดินเพื่อการเบิกจ่ายลงทุนได้ตามปก อีกทั้งส่วนหนึ่งมาจากแรงขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลจะแจกเงินสดก้อนแรกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลไปถึงต้นปีหน้า รวมกับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ สงกรานต์ และอานิสงส์เศรษฐกิจที่ดอกเบี้ยโลกเริ่มลด ก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยเราจะมีโอกาสขยายตัวได้ 3.5–4%
สิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังไม่ต่างกันก็คือการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ที่นำโดยคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนล่าสุด และ ครม.ชุดใหม่ ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี หลังจากมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้จะสามารถบริหารงานได้อย่างเต็มหน้าที่ ที่สำคัญยังมีปัญหาน้ำท่วมรออยู่ ไม่ว่าจะสานต่อ หรือมีนโยบายแบบใดออกมาก็หวังแแค่เพียงว่าจะช่วยกู้วิกฤต และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าจริงๆ สักที…