นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (กรอบการเคลื่อนไหว 33.06-33.41 บาทต่อดอลลาร์) แต่โดยรวมเป็นทิศทางการอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า
โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก เข้าใกล้แนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาทองคำ หลังที่ประชุม FOMC ของเฟด มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (11 ต่อ 1) ให้ลดดอกเบี้ย -50bps สู่ระดับ 4.75%-5.00% ตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ใหม่ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างที่ตลาดคาดหวัง อีกทั้งประธานเฟดยังได้เน้นย้ำว่า การเร่งลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบ Soft Landing ได้ (ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Economic Recession) และช่วยให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพ หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงกว่า -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้สุดท้ายเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นได้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ทำให้ในช่วงระยะสั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ จะมีแนวต้านถัดไปแถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอย่างฝั่งผู้ส่งออก ก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้างในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนของเงินบาทได้บ้าง