ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมีจำนวนสต็อกเหลือขายเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบในอดีตผ่านมา ที่สำคัญจำนวนยูนิตที่ขายออกไม่ได้มีทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมาสะสมไม่ต่ำกว่า 350,000 หน่วย ในแง่มูลค่าของสต็อกที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากกว่า 830,000 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาเป็นที่ 1.57 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน สาเหตุมาจากต้นทุนราคาที่ดินที่สูงขึ้น การพัฒนาโครงการและราคาซื้อขายที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วก้าวกระโดด บางส่วนผู้พัฒนาก็ยอมเชือดเนื้อตัวเอง
รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ราคาที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5.4% อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้เฉลี่ยคนไทยต่อหัวรายปีกลับอยู่ที่ 1.4% เท่านั้น หรือราคาที่อยู่อาศัยแซงรายได้ต่อปีมากเกือบ 4 เท่า ลองนึกภาพว่า ถ้าคนมีเงินเดือนไม่ถึง 30,000 บาท แต่มีความต้องการอยากซื้อบ้านในราคา 7 ล้านบาท จะเห็นว่าโอกาสในการกู้ซื้อบ้านเป็นไปอย่างยากมาก
สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของฝั่งรัฐบาลที่ประกาศออกมาใช้นั้น เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ/การจดจำนอง พบว่ามาตรการนี้ไม่ได้มีผลมากนักต่อยอดการขาย ดูได้จากยอดโอนการโอนอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ติดลบ 13% มาตรการดังกล่าวออกมาช่วงเดือนเม.ย. ซึ่งข้อมูลของไตรมาส 2 ยังพบว่า การโอนในตลาดก็ติดลบ 4.5% โดยสรุปมาตรการดังกล่าวให้ผลเชิงบวกแค่ในตลาดคอนโดมิเนียมกับบ้านมือสองเท่านั้น
ทั้งนี้ ในอนาคต ความท้าทายสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยจะมีมากมาย เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วท่ามกลางบ้านสร้างใหม่ที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละแสนหน่วยนั้น จะต้องอยู่บนภาวะสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด หรือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 25% ของประชากรทั้งประเทศ เด็กแรกเกิดในไทยลดน้อยลง คนปฏิเสธการแต่งงานและอยู่เป็นโสดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จึงเหลือเพียงความต้องการซื้อของผู้ซื้อชาวต่างชาติ