นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาและการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ว่า มีทิศทางที่ดี โดยราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ มีการขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 67) ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เฉลี่ยตันละ 14,813 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.09% ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ปทุมธานี 1 เฉลี่ยตันละ 12,486 บาท สูงขึ้น 7.35% ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ยตันละ 12,038 บาท สูงขึ้น 2.98% และข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 10,908 บาท สูงขึ้น 3.87%
สำหรับการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) 67 มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 66 เช่นกัน โดยไทยส่งออกข้าวปริมาณ 5.68 ล้านตัน มูลค่า 132,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 21.96% และ 50.97% ตามลำดับ โดยเมื่อแยกเป็นรายชนิดข้าว พบว่า ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ มีปริมาณการส่งออก 0.93 ล้านตัน มูลค่า 29,503 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 8.44% และ 23.26% ,ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์หอมปทุมธานี 1 ปริมาณ 0.37 ล้านตัน มูลค่า 9,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.12% และ 65.55% ,ข้าวเปลือกเหนียว ปริมาณ 0.17 ล้านตัน มูลค่า 4,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.31% และ 32.23% และข้าวขาว ปริมาณ 3.64 ล้านตัน มูลค่า 76,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.42% และ 86.51% ตามลำดับ
ปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น มาจากความต้องการของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัว จึงเป็นโอกาสทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป
3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท
4. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร อย่างน้อย 60-180 วัน (2-6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 67 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่เกษตรกร โดยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท โดยกรมธรรม์ประกันภัย จะให้ความคุ้มครองภัยศัตรูพืช หรือโรคระบาด และภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ (1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้ และ (7) ช้างป่า