นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย การ ส่งออก เดือน ส.ค.2567 พบว่ามีมูลค่า 26,182 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดโต 6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,917 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.9% ส่งผลให้ในเดือนส.ค.นี้ ไทยเกินดุลการค้า 264.9 ล้านดอลลาร์
โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 17.4% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 17.5% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 17.1% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และผักกระป๋องและผักแปรรูป ทั้งนี้ 8 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.6% ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 5.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว
ขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.67) การส่งออกของไทย มีมูลค่ารวม 197,192 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 203,543 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังคงขาดดุลการค้า 6,351 ล้านดอลลาร์
สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะหลังนั้น ยังไม่มีผลให้ สนค.ปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ โดยยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1-2% ที่มูลค่าราว 290,700 ล้านดอลลาร์ และมองว่ามีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่า 2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้น
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า จากการที่เงินบาทแข็งค่าในระยะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี คือ เดือนพ.ย. ธ.ค.67 และต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 68 โดยมองว่าการแข็งค่าของเงินบาท ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงมากต่อการส่งออกในระยะหลังจากนี้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า จะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกมาจากการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร ค่าระวางเรือชะลอตัวลง ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ แต่มีปัญหาที่ต้องจับตาและมีผลต่อการส่งออก คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ที่ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 4 รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนสูง โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าทั้งปีจะส่งออกได้ตามเป้า 1-2% และมีโอกาสเกิน 2% เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ แต่ขอคงเป้าไว้ที่ 2% ก่อน โดยมีมูลค่าประมาณ 290,776 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์