นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทัศนะต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรพิการ หรือเงิน 10,000 บาท สำรวจจากผู้ไม่ถือบัตร 80.2% ถือบัตร 19.8% ส่วนใหญ่เลือกเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ 93.0% โดยการใช้เงินจะแบ่งใช้หลายครั้ง 67.3% ใช้ให้หมดในครั้งเดียว 19.2% ไม่แน่ใจ 13.5% จะใช้ซื้อทองคำ/เพชร/อัญมณี 17.8% เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.7% เครื่องมือสื่อสาร 8.8% สินค้าอุปโภคบริโภคเช่น อาหาร เสื้อผ้า 8.4% สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตรหรือการค้า 8.3%
โดยกลุ่มคนที่รับเงินสด 1 หมื่นบาทครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะแบ่งใช้จ่ายเงินหลายครั้งโดยจะใช้จ่ายภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อซื้อสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศเอง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี และสินค้าอุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ เงินหมื่นบาทเฟสแรก มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 14.5 ล้านคน วงเงิน 145,000 ล้านบาท จะส่งผลต่อจีดีพีปี 67 เพิ่ม 0.2%-0.3% เกิดการหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ สร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 2.5-4.5 แสนล้านบาท จึงคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัว 2.5-3% ไตรมาส 4 ขยายตัว 3.8-4.3% ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวในกรอบเฉลี่ย 3-3.5% ทำให้ทั้งปี 2567 โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.6-2.8% มีโอกาสสูงขึ้น