ราชินีผลไม้ไทย “มังคุด”ครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ในตลาดโลก 8 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้วกว่า 2.4 แสนตัน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์การส่งออก มังคุด ของไทย พบว่า ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเป็นผลไม้ที่ไทยครองตำแหน่งผู้นำการส่งออกอันดับหนึ่งของโลก โดยไทยส่งออกผลสดและแปรรูป คิดเป็นสัดส่วน 91% ของผลผลิตมังคุดทั้งประเทศ และบริโภคในประเทศ 9% และตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกมังคุดทั้งหมดของไทย เพราะมังคุดไทยเป็นที่ชื่นชอบ มีชื่อเสียงด้านรสชาติอร่อย

โดยในช่วง 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกมังคุดแล้ว 247,274.83 ตัน เพิ่มขึ้น 25.6% มูลค่า 427.28 ล้านเหรียญสหรัฐ (15,425 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2% โดยตลาดส่งออกมังคุดที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สัดส่วน 90.83% เวียดนาม สัดส่วน 5.09% เกาหลีใต้ สัดส่วน 1.68% สหรัฐฯ สัดส่วน 0.51% กัมพูชา สัดส่วน 0.33% ส่วนปี 2566 ส่งออกปริมาณ 248,612.25 ตัน เพิ่มขึ้น 20.8% มูลค่า 502.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (17,192.32 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 25.6% โดยตลาดหลัก คือ จีน เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ สัดส่วน 93.73% 3.33% 0.69% 0.59% และ 0.29% ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากดูเฉพาะการนำเข้ามังคุดของจีน พบว่า จีนนำเข้ามูลค่า 730.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.2% โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 85.07% อินโดนีเซีย สัดส่วน 14.91% และมาเลเซีย สัดส่วน 0.01% ซึ่งมูลค่าที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนลดลงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องรักษาคุณภาพและยกระดับการผลิต กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว และล่าสุดจีนยังอนุญาตให้นำเข้ามังคุดได้อีก 2 ประเทศ คือ เวียดนามและเมียนมา ซึ่งจะเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคต

สำหรับ มังคุดเป็นผลไม้ส่งออกที่มีศักยภาพของไทย แต่ที่ผ่านมา ไทยพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก และปัจจุบันไทยมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น จึงต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เริ่มจากการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เหนือชั้นกว่าเดิม ต้องผลิตให้ได้คุณภาพเพื่อสามารถส่งออกได้ เนื่องจากผลผลิตมังคุดทั้งประเทศ จะใช้บริโภคภายในประเทศเพียง 9% เท่านั้น และต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้นด้วย

นอกจากนี้ จะต้องดึงดูดผู้บริโภคด้วยการสร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นเฉพาะตัวของมังคุดไทย ผ่านการจดทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่สะท้อนถึงแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง จะช่วยยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยปัจจุบันมีมังคุด GI ได้แก่ มังคุดในวงระนอง มังคุดเขาคีรีวง และมังคุดทิพย์พังงา และเน้นการโปรโมตสินค้าอย่างมังคุดแท่ง (มังคุดเสียบไม้) และการบุกตลาดแปรรูปใหม่ ๆ เช่น มังคุดกวนไร้น้ำตาล ขนมไส้มังคุด มังคุดอบกรอบไม่ทอด ไอศกรีม ขนม และน้ำมังคุด รวมทั้งเปลือกและเมล็ด ที่สามารถนำไปใช้ในอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าเทรนด์รักสุขภาพ จะเป็นอีกทางที่จะช่วยพยุงไม่ให้ราคาตกต่ำ และเปิดโอกาสให้มีการสร้างผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ในการขยายตลาด อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลักมากเกินไป

ขณะเดียวกัน จะต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย ตั้งแต่ร้านขายของฝาก คาเฟ่ ร้านอาหาร ไปจนถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะร้านค้าท้องถิ่นที่พร้อมจะร่วมทำการตลาด และยกระดับการโปรโมตสินค้าผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มังคุดไทยสามารถกระจายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles