เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะ 3 น้อยลง ชี้วัดสภาพเศรษฐกิจต้องดูคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันแตกต่างไปจากเศรษฐกิจโลกในอดีตหลายทศวรรษผ่านมา โดยเปลี่ยนจาก ‘3 มากขึ้น…สู่ 3 น้อยลง’ มีดังนี้

ประการแรก ‘คนน้อยลง’ สะท้อนให้เห็นจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มตัว โดยในปี 2023 จำนวนประชากรโลกเติบโตเพียงราว 1.0% ต่อปี และมีแนวโน้มจะเติบโตช้าลงอีกในอนาคต โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของประชากรอายุมากกว่า 64 ปี เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 1960 เป็น 10% ในปี 2023 ในขณะที่ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงจาก 37% เหลือ 25% ในช่วงเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยงานศึกษาจาก NBER พบว่าจะทำให้รายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ เติบโตช้าลงประมาณ 0.3% ต่อปีในช่วงปี 2020-2050 ผลกระทบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่กำลังเริ่มส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศด้วย รวมถึงประเทศไทย

ประการที่สอง ‘ความร่วมมือน้อยลง’ เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศมหาอำนาจค้าขายกันน้อยลง โดยมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงจาก 6.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เหลือ 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 การกีดกันทางการค้ากำลังลุกลามไปยังภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากดัชนี Global Cooperation Index หมวด Peace and Security ที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แนวโน้มการแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมหาอำนาจส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การลดประสิทธิภาพในการผลิตโดยรวม

ประการที่สาม ‘สภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจน้อยลง’ เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายและเชื่อมโยงกัน ทั้งภัยไซเบอร์ สังคมแบ่งขั้ว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ฐานข้อมูลภัยพิบัติ EM-DAT ของประเทศเบลเยียมระบุว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2010 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง 0.23% ต่อปี มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การวางแผนธุรกิจระยะยาวและการลงทุนขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะยาว

สถานการณ์ 3 น้อยลงนี้ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดจาก ‘ปริมาณ’ อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป และทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวคิดผลิตภาพการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การพิจารณาผลิตภาพการผลิตในยุคปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้น และมุ่งเน้นการสร้าง ‘คุณค่าที่ยั่งยืน’ มากกว่าการเพิ่มปริมาณการผลิตเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า สิ่งที่จะมีความสำคัญมากขึ้นคือ ‘คุณภาพ’ ของการเติบโต ทั้งคุณภาพของการได้มาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพที่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะสร้างต่อชีวิตคนในระบบเศรษฐกิจ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles