พาณิชย์ ชี้ช่องผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง เจาะตลาดเมืองรองจีน 8 เดือน ปี 67 ไทยรับส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม 9.38% 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าและแนวโน้มของสินค้า อาหารสัตว์เลี้ยง (อาหารสุนัขหรือแมว พิกัด HS Code 230910) ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก มีส่วนแบ่ง 8.39% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก รองจากเยอรมนี 13.07 %สหรัฐอเมริกา 9.81% และฝรั่งเศส 9.77%

ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนเป็นตลาดศักยภาพที่ไทยน่าจะมีโอกาสขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม โดยในปี 2566 จีนนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทย เป็นอันดับที่ 3 ส่วนแบ่ง 8.02 % ของมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของจีน รองจากสหรัฐอเมริกา ที่มีส่วนแบ่งสูงถึง 65.66% และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีส่วนแบ่ง 13.34 %

สนค. ได้ศึกษาข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ที่เผยแพร่รายงาน เรื่อง ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ระบุว่า ในปี 2566 สุนัขและแมวในเขตเมือง ทั่วประเทศจีน มีจำนวนมากกว่า 120 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 4 % จากปี 2565 โดยแมวมีจำนวนถึง 70 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 7 % จากปี 2565 ขณะที่สุนัขมีจำนวน 52 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 1 % จากปี 2565 ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น

โดยในปี 2566 มูลค่าการบริโภคอาหารแมว เพิ่มขึ้น 7.6 % คิดเป็นมูลค่า 71,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนอาหารสุนัข เพิ่มขึ้น 4.0 % คิดเป็นมูลค่า 74,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 10,500 ล้านดอลลาร์

สัดส่วนจำนวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่ในเขตเมืองรองระดับสอง (Second -Tier Cities) มากที่สุดถึง 41% ขณะที่เมืองหลักระดับหนึ่ง (First – Tier Cities) และเมืองรองระดับสาม (Third – Tier Cities) มีสัดส่วนจำนวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 29% และ 30 % ตามลำดับ ซึ่งเมืองใหญ่ทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนถือเป็นเมืองรองระดับสอง รวมถึงเมืองหลวงทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ นครฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง นครฉางชุน มณฑลจี๋หลิน และ นครเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง และเมืองท่าต้าเหลียนในมณฑลเหลียวหนิง

ข้อมูลยังระบุว่า มณฑลเหลียวหนิง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และติด 1 ใน 10 อันดับของมณฑลที่มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากที่สุด โดยสุนัขและแมว 70 % ของตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนมาจากมณฑลเหลียวหนิง มีเมืองอันซาน (Anshan) เมืองระดับที่สามในเหลียวหนิง เป็นเมืองอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่สำคัญและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้เพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงของจีนมักนิยมใช้อาหารสัตว์นำเข้าคุณภาพสูง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและรูปลักษณ์ที่ดีของสัตว์เลี้ยง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าจากต่างประเทศสามารถเติบโตในจีน คือ สินค้าต้องวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตลาด เนื่องจากผู้บริโภคจะหันไปเลือกซื้อแบรนด์อื่น รวมทั้งสินค้า แบรนด์ที่ราคาถูกกว่าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ง่าย อาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีความสดใหม่ ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับวันหมดอายุ ซึ่งอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามักมีวันหมดอายุที่สั้นกว่า (เนื่องจากระยะเวลาขนส่ง) เมื่อเทียบกับอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งต้องมีการควบคุมราคาไม่ให้แตกต่างกันมากในแต่ละช่องทางการจำหน่าย เนื่องจากตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีนมีการแข่งขันกันสูงและรุนแรง ระหว่างร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีหน้าร้าน ร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-Commerce) แบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงต่างชาติจึงควรให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าทุกช่องทาง ให้มีราคาและโปรโมชันใกล้เคียงกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า และบรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีสีสันสวยงามและสะดุดตา รวมทั้งควรมีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์

สำหรับภาพรวมของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,092.4 ล้าน หดตัว 15.0 %จากปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกสำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 28.43 %ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ญี่ปุ่น สัดส่วน 15.78% มาเลเซีย สัดส่วน 6.16% อิตาลี สัดส่วน 5.91 %และออสเตรเลีย สัดส่วน 5.55% ส่วนปี 2567 ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. – ส.ค.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง 1,769.4 ล้านดอลลาร์) ขยายตัว 34.2 %จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวได้ดีทุกตลาด อาทิ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 57.3 %อิตาลี ขยายตัว 49.5 %ออสเตรเลีย ขยายตัว 43.0% มาเลเซีย ขยายตัว 7.4 % และญี่ปุ่น ขยายตัว 4.1%

หากพิจารณาเฉพาะตลาดจีน พบว่า ในปี 2566 จีนเป็นตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 13 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 38.0 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1.82% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย แม้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปจีน ปี 2566 จะหดตัว 42.2% แต่ในปี 2567 ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. – ส.ค.) ก็กลับมาขยายตัว 9.0%

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 27.1 ล้านดอลลาร์ และเมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของจีน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีส่วนแบ่งมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จาก7.09% เป็น 9.38% ของมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของจีน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับที่ 1 ของจีน มีส่วนแบ่งมูลค่าการนำเข้าจากจีนลดลง จาก 67.24 %เป็น 66.89 % ส่วนนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นจาก 13.01% เป็น 13.51%

ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดศักยภาพที่น่าสนใจสำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยควรศึกษารสนิยมพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนั้น ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐาน และความแตกต่างของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยทำให้อาหารสัตว์เลี้ยงไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles