นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงเป็น”นอมินี”ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เน้นการติดตามกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท อสังหาริมทรัพย์ และโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวของไทย เช่น ภูเก็ต ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่
โดยจากการติดตามผลการดำเนินคดีกับนอมินีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตที่กรมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นพบความผิดปกติการถือครองหุ้นของนิติบุคคลพบว่า มีกลุ่มสำนักงานกฎหมายและสำนักงานบัญชีที่มีพฤติกรรมรับจ้างจดทะเบียนนิติบุคคล หรือรับทำบัญชี โดยใช้ชื่อคนไทย (นอมินี) เข้าเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในหลายบริษัทเป็นผลเอื้อให้บุคคลต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในประเทศไทย จากนั้นกรมได้ส่งต่อให้ DSI ขยายผลการตรวจสอบเป็นคดีพิเศษ พร้อมลงพื้นที่เข้าตรวจค้นธุรกิจเป้าหมายร่วมกับ DSI พบว่า มีพฤติกรรมในลักษณะ”นอมินี”จริง มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอนำไปสู่การส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องต่อศาล
ทั้งนี้ ล่าสุด ศาลอาญาได้มีคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2567 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ลงโทษผู้กระทำความผิดตามบทกำหนดโทษแห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 23 ราย ซึ่งมีโทษปรับรายละ 200,000 บาท รอการลงโทษจำคุก 2 ปีโดยให้คุมความประพฤติ 1 ปี และสั่งให้จดทะเบียนเลิกบริษัท
กรมฯ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบนอมินีและที่ผ่านมาได้ร่วมปฏิบัติการเชิงลึกกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งบางเรื่องอาจใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อส่งฟ้องต่อศาล แต่ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของกรมฯ ที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยเพื่อแก้ไขปัญหานอมินีอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ขอเตือนคนไทยที่มีพฤติกรรมให้ความช่วยเหลือกับบุคคลต่างชาติที่เข้าข่ายนอมินีให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะเป็นการทำร้ายผู้ประกอบการไทยและทำลายธุรกิจของคนไทย ซึ่งจะมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมายคือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับรายวัน วันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน