กระทรวงมหาดไทยประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจ รายได้และรายจ่ายของครอบครัวชาวญี่ปุ่น พบว่า เมื่อปี 2023 ผ่านมา หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนญี่ปุ่นที่มีสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 2 คนมีมูลค่า 6.55 ล้านเยน หรือ 43,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.479 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปีที่ 6.42 ล้านเยน หรือประมาณ 1.412 ล้านบาท ส่งผลให้ทำสถิติหนี้ครัวเรือนสูงเกินกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2002 ที่สำคัญ ทำสถิติภาระหนี้ไม่เคยสูงเกินกว่ารายได้ต่อปีของชาวญี่ปุ่นในรอบ 74 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา นอกจากนี้ แนวโน้มดังกล่าวในปี 2024 แทบจะไม่แตกต่างจากในปี 2023 แม้แต่น้อย โดยเฉพาะอัตราส่วนหนี้ต่อเงินเก็บออมทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
นายทาคุยะ โฮชิโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ เปิดเผยว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าอัตราค่าจ้าง จึงส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อ หรือเงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ผลสำรวจยังพบว่า สินเชื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และหนี้สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์มีมากถึง 90% ของมูลค่ารวมสินทรัพย์ของครัวเรือนในญี่ปุ่น
ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปี 2023 นั้น มูลค่าสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รวมทั่วประเทศญี่ปุ่นมีสูงถึง 229 ล้านล้านเยน หรือราว 50.4 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์หนี้สินอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลายเป็นภาระหนี้สินที่หนักหน่วงของครัวเรือนในญี่ปุ่น
โดยเฉพาะภาวะหนี้สินของคนญี่ปุ่นรุ่นวัยทำงานในช่วงวัย 30 ปี และวัย 40 ปี เผชิญในระดับวิกฤติ เนื่องจากกลุ่มคนวัยทำงานเหล่านี้กู้หนี้อย่างมากมายท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญ ครัวเรือนในญี่ปุ่นที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นคนในวัยทำงานช่วงวัย 30-40 ปี มีสัดส่วนหนี้สูงเป็นประวัติการณ์เปอร์เซ็นต์ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้แต่ชายชาวญี่ปุ่นวัย 30 ปี ซึ่งแต่งงานกับภรรยา ได้ขอกู้เงินมูลค่า 100 ล้านเยน หรือกว่า 22 ล้านบาทเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงโตเกียว ในขณะที่คู่ชีวิตนี้มีรายได้ต่อปีที่ 20 ล้านเยน หรือกว่า 4.4 ล้านบาท ดังนั้น เงินฝากและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น จึงไปกระทบเงินเก็บออมของสามีและภรรยานี้ลดน้อยลง และได้แต่หวังว่าจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทั้งคู่เปิดเผยว่า ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการกู้ยืมเพื่อตอบสนองความต้องการนั่นเอง
อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ที่สูงขึ้นมากกลายเป็นสัญญาณเตือนภัยที่นำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินที่กำลังคุกคามครัวเรือนในญี่ปุ่นจำนวนมาก ภาระหนี้สินที่สูงเกินกว่าความสามารถในการจ่ายหนี้ ทำให้ครัวเรือนมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การสูญเสียงาน การลดเงินเดือน หากความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้น ลูกหนี้จะประสบปัญหาในการชำระหนี้ตามเวลากำหนด ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ การถูกยึดทรัพย์ และปัญหาทางการเงินอื่นๆ ตามมาภายหลัง
หน่วยงานการเงินอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ลูกหนี้ชาวญี่ปุ่นประมาณ 76.9% เลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว หากอัตราดอกเบี้ยของระบบการเงินปรับเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อค่างวดผ่อนชำระรายเดือนของลูกหนี้เหล่านี้จะสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น และกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่น่ากังวล คือมี 23.1% ของลูกหนี้ชาวญี่ปุ่นที่เลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว ยังไม่มีการวางแผงเฉพาะเจาะจงในการรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมแบบลอยตัวในอนาคต ในขณะที่บางส่วนยอมรับว่า อาจต้องตัดลดค่าใช้จ่ายรายวันลง
แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระหนี้ของคนในวัย 30 ปีสูงขึ้น ข้อมูลในปี 2023 นั้น พบว่าหนี้สินครัวเรือนในคนวัยทำงานช่วงวัย 30 ปี คิดเป็น 270% ของรายได้ และเป็น 230% ของเงินออม ส่งผลสะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของกลุ่มคนวัยนี้
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในแนวโน้มที่ไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2023 ผ่านมา คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 11.5% ดังนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างหนี้ครัวเรือนไทยกับหนี้ครัวเรือนญี่ปุ่น จะพบว่า หนี้ครัวเรือนญี่ปุ่นสูงมากกว่าไทยถึง 2.6 เท่า