ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าการประชุม BRICS Summit 2024 จัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.2567 ในการประชุมในรอบนี้มีการออกแถลงการณ์ที่ชื่อว่า “ปฏิญญาคาซาน” (Kazan Declaration) ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
มีมติรับ “พันธมิตรหุ้นส่วน (Partner Countries)” จำนวน 13 ประเทศ แม้ว่ายังไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัว แต่จะเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือที่มากขึ้นในด้านต่าง ๆ เช่น การค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดวางตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย อาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงแอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ทูร์เคีย ยูกันดา และอุซเบกิสถาน เพิ่มเติมจากสมาชิก 9 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกดั้งเดิม ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ รวมถึงสมาชิกใหม่เข้าร่วมอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2024 ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อย่างไรก็ดี สถานะดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากการเป็นสมาชิกเต็มในเรื่องสิทธิออกเสียงในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินช่วยหลือจากกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement: CRA) ขณะที่สามารถใช้ประโยชน์การกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB) หรือ BRICS Bank ได้
การขยายพันธมิตรทำให้ BRICS มีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งด้านขนาดเศรษฐกิจ ขนาดประชากร การค้า และการถือครองทรัพยากรพลังงานของโลก เมื่อ BRICS รวมกับสมาชิกใหม่และพันธมิตรหุ้นส่วนจะมีสมาชิก 22 ประเทศ มีขนาดประชากรถึง 58% ของประชากรโลก แต่หากมองในมิติของขนาดเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G7 ยังคงมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 44% ของ GDP โลก ในขณะที่ BRICS มีขนาดเศรษฐกิจรวมที่ 31% ของ GDP โลก
สาระสำคัญจากการประชุมฯ ในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เป็นทางเลือก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศกับกลุ่ม BRICS และกับคู่ค้า ปัจจุบันการค้าขายระหว่างกลุ่ม BRICS ด้วยกันเองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15% ในปี 2565 จาก 12% ในปี 2557 ในขณะที่สกุลเงินหยวนมีการใช้งานเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อชำระเงินค่าสินค้าระหว่างจีนกับคู่ค้า และเพื่อชำระค่าสินค้าผ่านประเทศที่สาม เช่น อินเดียที่ใช้เงินหยวนจ่ายค่าน้ำมันให้รัสเซีย เป็นต้น ส่งผลให้การใช้เงินหยวนในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.95% ของการชำระเงินด้านการค้าของโลก ณ เดือน ส.ค.2567 จาก 1.9% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นสกุลหลักอันดับ 1 โดยมีการใช้ชำระเงินถึง 84% (รายงานโดย SWIFT)
การพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศที่เป็นทางเลือก โดยการพัฒนา BRICS Pay ที่เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินระหว่างประเทศโดยใช้ระบบ DCMS (Decentralized Cross-border message system) มีโครงสร้างแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
การจัดตั้งตลาดซื้อขายธัญพืชหรือ BRICS Grain Exchange เพื่อให้ชาติสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองได้โดยตรง และลดการพึ่งพาบทบาทของคนกลาง เนื่องจากประเทศสมาชิก BRICS ทั้ง 9 ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ผลิตธัญพืชคิดเป็น 42% ของการผลิตโลก และบริโภคธัญพืชถึง 40% ของการบริโภครวมของโลก โดย BRICS Grain Exchange ในเบื้องต้นจะเริ่มจากการซื้อขายธัญพืช ก่อนที่จะขยายไปยังสินค้าประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและโลหะ
โดยสรุป การขยายพันธมิตรของกลุ่ม BRICS สะท้อนบทบาทที่เพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ในขณะที่การค้าขายระหว่างกันเองในกลุ่มก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากตัวเลขการค้าและการเตรียมพร้อมรองรับโครงสร้างพื้นฐานทางการชำระเงิน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแบ่งขั้วการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ชัดขึ้น การรักษาความสัมพันธ์เชิงกลยุทธระหว่างขั้วอำนาจก็เป็นสิ่งที่หลายๆ ชาติสมาชิกพยายามหาสมดุลเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองในระยะยาว