ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า มูลค่าการ ส่งออกไทย ปี 2567 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทย 2 เดือนที่ผ่านมา (ส.ค.-ก.ย.) ขยายตัวได้สูงกว่าที่ SCB EIC คาดการณ์ไว้ และสูงกว่ามุมมองตลาดมาก ส่วนหนึ่งจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัวถึง 3.9% ประกอบกับมูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากผลของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกปีนี้ จึงมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6%
ทั้งนี้ แรงส่งมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจขยายตัวไม่ดีนัก จากปัจจัยกดดันรอบด้าน เช่น1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าโลกสูงหดตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 นอกจากนี้ องค์ประกอบของดัชนี PMI ที่สะท้อนอนาคต เช่น ยอดคำสั่งซื้อใหม่ และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ในระยะข้างหน้า จะมีปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกมากขึ้น อาทิ ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในหลายพื้นที่มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ที่อาจทำให้ค่าระวางเรือกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง และมาตรการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ
2. China overcapacity ทำให้จีนส่งออกตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอุปสงค์ในจีนยังซบเซา ซึ่งอาจซ้ำเติมปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก
3. อินเดียยกเลิกการห้ามส่งออกข้าว หลังจากควบคุมการส่งออกข้าวมาตั้งแต่ ก.ค.66 อาจส่งผลให้ราคาและปริมาณข้าวไทยส่งออกลดลง เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดโลกที่มากขึ้น และไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวที่ได้เพิ่มมา กลับคืนให้อินเดีย
4. ภัยธรรมชาติ และสภาพอากาศแปรปรวน สถานการณ์น้ำท่วมในบางภูมิภาคของไทยเริ่มคลี่คลาย พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบยังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับภัยน้ำท่วมในอดีต โดยเบื้องต้น SCB EIC ประเมินมูลค่าความเสียหายน้ำท่วมในภาคเกษตรราว 4,700 ล้านบาท โดยหลักมาจากพื้นที่ปลูกข้าวที่คาดว่าจะเสียหาย 0.8 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.7% ของพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะกระทบการส่งออกข้าว
5. ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จาก 1) แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันโลกลดลง โดยเฉพาะจีน 2) การเพิ่มการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ 3) ความกังวลอุปทานน้ำมันลดลง หลังจากอิสราเอลยืนยันว่าจะไม่โจมตีโรงงานน้ำมันของอิหร่าน 4) ตลาดคาดการณ์ว่าในปี 67 จะมีอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเกินความต้องการ (เกินดุล) ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าที่เกี่ยวข้องเช่น พลาสติก ยาง เคมีภัณฑ์
6. ค่าเงินบาทผันผวน อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย และรายได้หรือกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย (เงินบาทแข็งค่ามากถึง 9% ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา หรือแข็งค่า 4.6% นับตั้งแต่ต้นปี)
อย่างไรก็ดี SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2567 และ 2568 ใหม่ และจะเผยแพร่ในเดือน พ.ย.67
สำหรับการส่งออกของไทยเดือนก.ย.67 อยู่ที่ 25,983.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.1%YOY ถึงแม้ว่าจะชะลอลงจาก 7% ในเดือนส.ค.67 และต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.9% แต่นับว่าอัตราการขยายตัวดีกว่าที่ SCB EIC ประเมินไว้ว่าจะติดลบเล็กน้อยที่ -0.2% สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 223,176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.9% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 25,588.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูง 9.9% นับเป็นการขยายตัวสูงติดต่อกัน 4 เดือน ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนก.ย. เกินดุลอยู่ที่ 394.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ภาพรวม 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 5,956.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ