ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยยังมาจากการ ท่องเที่ยว นอกเหนือจากการส่งออก การลงทุน ปีนี้ก็เช่นกัน ที่การท่องเที่ยวถือเป็นตัวพระเอกที่จะเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจไทยให้ตื่นขึ้นจากหลุมดำ ภายหลังที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดมานาน
แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อกำลังจะเข้าใกล้ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวประเทศไทย ดันเจอกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวโซนภาคเหนือ ลากมาจนถึงภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง
คุณพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้แม้จะเผชิญแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งคาดการณ์มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากทุกภาคส่วนราว 4,000 ล้านบาท โดยเฉพาะภาคการเกษตร และท่องเที่ยว แต่ผลจากมาตรการต่างๆ ของรัฐได้ชดเชย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น ทำให้คาดว่าทั้งปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 2.7% คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อน และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวที่ 1.9% จากปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวน 36 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.6%
เมื่อการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจเฮือกสุดท้าย รัฐบาลได้ผุดโครงการ “ไทยแลนด์ วินเทอร์ เฟสติวัล (Thailand Winter Festivals) ” ขึ้น โดยหวังว่านอกจากจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้แล้ว ยังหวังที่จะเป็นแรงส่งให้การท่องเที่ยวในปีนี้ถึงปีหน้ากลับมาคึกคักและแข็งแกร่งเหมือนเดิม
คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) จะต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอีก 10.7 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 3.6 ล้านคน เติบโตไม่น้อยกว่า 20% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เพื่อผลักดันจำนวนทั้งปีนี้ให้ถึงเป้าหมายของรัฐบาล 36.7 ล้านคน หลังจาก 9 เดือนแรกมีจำนวนสะสมมากกว่า 26 ล้านคน โดยยังมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้แน่นอน และคาดว่าจะช่วยสร้างแรงส่งที่ดีไปยังปี 2568 ด้วย
โดยฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นที่น่าจับตา ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลในปี 2568 จะสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2567 จากคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน มากกว่าปี 2562 ก่อนโควิด-19 ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทย ตั้งเป้าหมายการเดินทางภายในประเทศไว้กว่า 205 ล้านคน-ครั้ง
ซึ่งคุณฐาปนีย์ บอกว่าภาพรวมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศช่วงไฮซีซัน มีปัจจัยบวกสนับสนุนให้เกิดการเดินทางเข้าไทย เช่น การจัดกิจกรรมทางการตลาดและประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมตลาดทั้งระยะใกล้ และระยะไกลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินใหม่จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้บินตรงเข้ามาสู่กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเกาะสมุย เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งเครื่องมือกระตุ้นความต้องการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวปลายปี และไฮซีซันที่กำลังจะมาถึงนี้
แต่ทว่า ภาคการท่องเที่ยวยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในประเทศ หนี้ครัวเรือน และปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ แต่ ททท.ยังคงเดินหน้าอัดแคมเปญ ไม่ยั้ง โดยเฉพาะกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2567 ซึ่งในช่วงปลายปีนี้ ททท.ได้เตรียมกิจกรรมไว้อย่างอัดแน่น เช่น เทศกาลลอยกระทง งานวิจิตรเจ้าพระยา การร่วมกับภาคเอกชนจัดโปรโมชัน อีเวนต์ด้านกีฬา เทศกาลดนตรี เทศกาลประเพณีต่างๆ ทั่วไทย ซึ่งปัจจุบันมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้วกว่า 200 ล้านคน-ครั้ง คาดว่าตลอดปีนี้มีลุ้นจำนวนไปถึง 230 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มากกว่า 10%
อีกทั้ง ททท.ได้ผุดแคมเปญเพื่อหวังจะฟื้นการท่องเที่ยวในภาคเหนือ และปลุกกระแสการเดินทางในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี โดยเฉพาะ แคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง” ที่ได้ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 550 ราย จัดขึ้น โดยจะมองส่วนลด 50% ของการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว (1 คน/1 สิทธิ์)
โดยผู้ที่ลงทะเบียน “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง” จะอยู่ในรูปแบบก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน (First Come First Served) นักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ ณ โรงแรมที่เข้าพักที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยสแกน QR Code และกรอกข้อมูล ชื่อ-สกุล ภูมิลำเนา เบอร์โทรศัพท์ เพื่อรับ SMS ยืนยันการเข้าร่วม (ไม่สามารถจองสิทธิ์ล่วงหน้าได้) สำหรับการใช้สิทธิ์ส่วนลด นักท่องเที่ยวสามารถใช้สิทธิ์ เมื่อใช้จ่ายกับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในวงเงินไม่เกิน 400 บาท แต่จะต้องไม่ซ้ำกับสถานประกอบการเดิมที่เคยใช้สิทธิ์ส่วนลดไปแล้ว และจำกัดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ภายใน 3 วัน (72 ชั่วโมง) นับจากเวลาที่ได้รับ SMS ยืนยันการเข้าร่วมแคมเปญ ซึ่งแคมเปญนี้จะสามารถเริ่มสมัครได้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือเมื่อครบจำนวนการใช้สิทธิ์คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 44.34 ล้านบาท
(ดูรายละเอียดแคมเปญ ที่เว็บไซต์ https://www.แอ่วเหนือคนละครึ่ง.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TAT Contact Center โทร. 1672 )
การท่องเที่ยวนอกจะจะเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า กำลังที่ยังแผ่ว นักท่องเที่ยวจึงอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว เซฟคอสต์มากขึ้น เที่ยวตามกำลังที่มี หรือถ้าคนมีกำลังจ่ายก็ยังเสี่ยงที่คนจะเลือกเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเพราะเทียบค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางในประเทศระยะใกล้ การยกเว้นวีซ่า บวกกับค่าเงิน แคมเปญที่จูงใจไม่ต่างจากเที่ยวในประเทศและแถมดูจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มกว่า จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อรายได้เที่ยวไทย เพราะหลายประเทศก็ต้องการจะฟื้นเศรษฐกิจจากโควิดโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญไม่ต่างจากไทย
เอาเป็นว่าในโค้งสุดท้ายของปี นับเป็นโค้งวัดใจของรัฐบาล รวมทั้งเศรษฐกิจไทย ที่จะเป็นเหมือนแต้มต่อ สร้างแรงส่งปลายปีนี้ ไปยันต้นปีหน้าและทั้งปี หากไม่มีตัวแปรอะไรมาสกัดดาวรุ่งซะก่อน โดยเฉพาะความกังวลเรื่องสงครามที่หวั่นจะลุกลาม ก็เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการกระตุกเศรษฐกิจไทยให้ลืมตาตื่นจากฝัน โดยหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ฟ้าเปิดเต็มที่ บวกกับเครื่องยนต์การเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนภาคเอกชนไทยและต่างชาติ ส่งออกที่แนวโน้มดี จะผนึกแรงกัน ช่วยเปิดทางให้เศรษฐกิจไทยกลับมาสดใสได้อีกสักครั้ง