ประเด็นการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย เพราะตั้งแต่การเสนอชื่อแคนดิเดตในการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในวาระนี้ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง เพราะรายชื่อที่กระทรวงการคลังได้เสนอชื่อ ‘นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง’ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซึ่งสร้างความกังวลว่าจะมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจน
ด้านแบงก์ชาติมีสิทธิ์เสนอชื่อ 2 เท่าของกระทรวงการคลัง ได้เสนอ ‘นายกุลิศ สมบัติสิริ’ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ ‘นายสุรพล นิติไกรพจน์’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นตัวเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ขณะเดียวกันมีนายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาบุคคลเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นตัวเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ แทนปรเมธี วิมลศิริ อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่ครบวาระไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ล่าสุดผลจากกรรมการคัดเลือกฯ ได้เลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้มาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม นับเป็นการฝ่ากระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย ด้วยความกังวลว่าจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำรายชื่อว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
โดยสิ่งที่เป็นข้อกังวลของตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่มาจากฝ่ายการเมืองจนเป็นที่จับจ้อง เพราะช่วงที่ผ่านมามีประเด็นงัดกันระหว่าง ‘รัฐบาล กับ ‘แบงก์ชาติ’ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายในทางเศรษฐกิจ โดยฝั่งรัฐบาลมุ่งสร้างการเติบโตและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนแบงก์ชาติเองก็มีจุดยืนชัดเจนในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่างตั้งข้อสังเกตของการเลือก ‘นายกิตติรัตน์’ ขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
อย่างไรก็ตามบทบาทของประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ต้องทำตามหน้าที่ในกฎหมาย เช่น การบริหารจัดการองค์กร เรื่องบุคลากร เงินเดือน โบนัส แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน แต่การแต่งตั้งบุคลากรรวมถึงผู้ว่า ธปท. โดยหลักจะต้องเลือกผู้ที่เหมาะสม นอกจากจะต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิ หรือประสบการณ์แล้วจะต้องรักษาความเป็นอิสระ และความเป็นกลางของ ธปท. ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งในข้อกฎหมายมีความชัดเจนในหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ข้อเป็นห่วงเรื่องการที่ ธปท. จะถูกล้วงลูกนำเงินสำรองไปใช้ตามใจชอบรัฐบาลนั้นไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ หรือครอบงำกันได้ดื้อๆ เพราะในความเป็นจริง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะไม่มีอำนาจเต็มที่จะตัดสินใจอะไรได้เพียงคนเดียว โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 13 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน รองผู้ว่าการ ธปท. 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ เป็นต้น ซึ่งตามโครงสร้างของกรรมการ ธปท. มาจากหลายภาคส่วน และส่วนใหญ่เป็นบุคคลอันทรงเกียรติ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และ ธปท. เป็นองค์กรอิสระ ต้องปลอดจากการแทรกแซงจากการเมือง
โดยบทบาทหน้าที่ของประธานบอร์ดแบงก์ชาติหลักๆ ได้แก่
1. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (8) คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6 การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.] เช่น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเอาเงินไปลงทุนอะไรได้บ้าง
2. แต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย (policy board) ทั้ง 3 ด้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมืองเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
- ออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและในการคัดเลือก กนง. กนส. กรช.
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน] - แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนง. 4 คน (จาก 7 คน)
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/6 ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งจำนวนสี่คน เป็นกรรมการ] - แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนส. 5 คน (จาก 11 คน)
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/9 ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนห้าคนเป็นกรรมการ] - แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กรช. 3 คน (จาก 7 คน)
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/11 ให้คณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนสามคนเป็นกรรมการ]
3. ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีคลังเพื่อปลดผู้ว่าการ ในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5) ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง]
อย่างไรก็ตาม จากความเป็นอิสระของ ธปท. ทำให้ที่ผ่านมาภาพของความเป็นไม้เบื่อไม้เมาของกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ดูเป็นเรื่องปกติ นโยบายการคลังและนโยบายการเงินอาจจะสวนทางกันในหลายครั้ง ด้วยจุดยืนที่ต่างกัน แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ามองในอีกมุมจากความเป็นอิสระของแบงก์ชาติที่อาจจะมากเกินไป ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินบางครั้งไม่สอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็อาจจะค้านสายตาฝ่ายใดไปบ้าง แต่ด้วยบทบาทของ ธปท. ที่เสมือนทหารเฝ้าพระคลัง ดูแลกระเป๋าเงินของประเทศ ในภาษาวิชาการก็คือต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ
โดยปัญหาหลักที่รัฐบาลรวมถึงประชาชนต้องการให้แบงก์ชาติผนึกกำลังกัน ก็คือการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ดังนั้นแม้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล หรือเรียกได้ว่ามาจากเส้นการเมืองก็ตาม แต่หากการยึดหลักวินัยกฎระเบียบของแบงก์ชาติที่ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดภายใต้ DNA ของแบงก์ชาติ ก็ถือว่าเป็นบอร์ดฯ ในยุคสมัยที่น่าจะมีความหลากหลาย
เชื่อว่าปัจจุบันความคาดหวังใหญ่ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือภาคธุรกิจก็ต้องการให้รัฐบาลและแบงก์ชาติจับมือกันแก้หนี้ อาจจะมีการทบทวน คํานวณเงินต้น ดอกเบี้ยพักหนี้ ที่จะนำไปสู่การแบ่งเบา บรรเทาภาระที่หนักอึ้งของประชาชนได้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะเข้มงวดปล่อยกู้ เพื่อดักทางก่อหนี้เสีย แต่ถึงอย่างนั้นก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ไม่ได้แย่ถ้าการมาของ “นายกิตติรัตน์” อาจจะทำให้เราได้เห็นนโยบายการทำงานที่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันภายในบอร์ดยังมีคนที่คอยแตะเบรคความแรงจากฝ่ายการเมือง ด้วยจุดยืนเดิมคือการเป็น “อิสระ” และการรักษาเสถียรภาพการเงิน ซึ่งจะช่วยถ่วงสมดุลนโยบายการเงินกับการคลังสำคัญ เพื่อในท้ายที่สุดคือต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน…