นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะประชุมวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรายปี เริ่มตั้งแต่ของขวัญปีใหม่ช่วงสิ้นปีนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีหน้า เสนอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตระยะถัดไป มาตรการแก้หนี้ภาคประชาชน ตลอดจนมาตรการของขวัญปีใหม่ในปลายปีนี้ ทั้งนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงต่างๆ ด้วย
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ที่ 1.2% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.3%
นายดนุชา กล่าวอีกว่า โดยมีปัจจัยสำคัญด้านการใช้จ่าย ได้แก่ การอุปโภคบริโภครัฐบาลขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ 6.3% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 25.9% และเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 แม้การลงทุนภาคเอกชนลดลงติดลบ 2.5% แต่การลงทุนรวมยังขยายตัว 5.2% การส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐขยายตัวที่ 8.9% ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.4% ซึ่งชะลอตัวจากไตรมาสก่อนและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.4% ชะลอลงจาก 4.9% ในไตรมาสก่อน
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
- การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ
- การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ
- การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
และ 4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งยังต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐ หลังจากนายโดนัล ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปด้วย
นายดนุชา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ควรให้ความสำคัญ
- การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
- การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
- การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน
- การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร
และ 5. การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง