ถอดกลเม็ดความสำเร็จโรงงานสิ่งทอ ‘Grand Knitwear Manufacturing’ สร้างพลังใจด้วยการแก้หนี้พนักงาน เพิ่มผลผลิตดันธุรกิจก้าวหน้าอย่างมั่นคง
หนี้ คือปัญหาสำคัญที่ฉุดใจของคนให้อ่อนแอ ทั้งยังก่อให้เกิดความเครียดสะสมที่ส่งผลลัพธ์ด้านลบกับร่างกาย กระทบเป็นโดมิโนถึงการทำงาน ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวจุดไฟให้คุณแบม – วัชรพงษ์ เหล่าประภัสสร ผู้บริหารรุ่นที่ 2 บริษัท แกรนด์ นิตแวร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด เกิดไอเดียที่อยากจะช่วยพนักงานแก้ปัญหาการเงิน เพื่อดึงใจให้พวกเขาสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและทำงานได้อย่างมีความสุข
ก่อนจะทำความรู้จักกลยุทธ์สุดบรรเจิดที่กล่าวไปข้างต้น ต้องย้อนเกี่ยวกับธุรกิจนี้ก่อนว่า ‘แกรนด์ นิตแวร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง’ เป็นโรงงานรับผลิตเสื้อผ้าเด็ก เสื้อยืด และเสื้อผ้าแฟชั่น ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 41 ปี ก่อตั้งโดยคุณพ่อของคุณแบม แรกเริ่มจะเน้นไปที่การผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก กอปรกับประเทศไทยได้โควตาด้านการส่งออกเป็นจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและโรงงานแกรนด์ นิตแวร์ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยนี้ไปเต็มๆ เรียกได้ว่าเฟื่องฟูจนต้องมีพนักงานรองรับสายงานการผลิตมากถึง 500 คน แต่ทุกอย่างไม่ได้จีรัง เพราะหลังจากที่คุณแบมและพี่ชายเข้ามารับไม้ต่ออุตสาหกรรมนี้ก็เริ่มซบเซา อันมีสาเหตุหลักมาจากทั้งการถูกสินค้าจีนบุกตีตลาดในประเทศ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ยิ่งทำให้ผู้จ้างผลิตเบนเข็มหาตลาดค่าแรงต่ำ แต่ศักยภาพดีจากประเทศอื่นๆ ทดแทน ลามเป็นลูกโซ่กดดันให้โรงงานจำต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 150 คน…
“งานเราเดินด้วยคน พอคนขาดกำลังใจงานมันไม่เดิน เราไปสืบทราบว่าเขามีปัญหาเรื่องเงิน หนีหนี้ แชร์ล้ม
ทำให้เขากังวลและงานมันไม่ออก”
จากวิกฤตดังกล่าวทำให้ 2 พี่น้องต้องเร่งหาทางรอดด้วยยกเครื่องกลยุทธ์ใหม่ จากเดิมที่พึ่งพาแค่ตลาดส่งออก ก็เริ่มเดินเกมรุกตลาด OEM ในประเทศมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันผ่านตลาดสินค้าพรีเมียมที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ คู่ไปกับการเปิดแบรนด์ลูกเพิ่มเติม เพื่อขยายฐานตลาด พร้อมลงลึกถึงต้นตอปัญหาในระดับพนักงาน จนพบว่าพนักงานในโรงงานส่วนใหญ่มีปัญหาทางด้านการเงิน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการขาดความรู้ด้านการเงิน และการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จนต้องหยิบยืมลามถึงกู้หนี้นอกระบบ กระทบถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้คุณแบมและพี่ชายไม่อาจนิ่งเฉยได้ จนต้องหาทางออก เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเคลียร์หนี้นอกระบบภายในโรงงาน เพื่อลดทอนแรงปะทะของการติดตามทวงถาม รวมถึงการให้ความรู้โดยละเอียด และการสอนทำบัญชีครัวเรือนเบื้องต้น
ในระยะแรกคุณแบมได้ลงแรงสอนพร้อมตรวจการบ้านด้วยตัวเอง ก่อนจะแอดวานซ์ขึ้นด้วยการหาตัวช่วยในการให้ความรู้ทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันทางการเงินและปล่อยสินเชื่อ โดยคุณแบมจะทำหน้าที่ติดตามและช่วยวางแผนการเงิน ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการออมผ่านการเปิดปัญชีฝากประจำให้กับพนักงาน ไม่เพียงแต่ช่วยวางแผนการเงินในปัจจุบัน แต่คุณแบมยังช่วยพนักงานวางแผนการเงินหลังเกษียณร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้มีพนักงานผ่านการเข้าร่วมวางแผนการเงินกับโรงงานแล้วถึง 4 รุ่น
ผลลัพธ์จากความตั้งใจดีที่กัดฟันสู้ร่วมกันมา ออกดอกเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น ภาพรวมการลาออกที่ลดลง เนื่องจากพนักงานมีความสุข เพราะได้วางแผนการเงินอย่างมีระบบ จนสามารถการดำเนินชีวิตได้
ทั้งหมดนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ โดยคุณแบมเชื่อเสมอว่าถ้าธุรกิจสามารถแก้ปัญหาภายในเรื่องคนได้ ก็จะส่งให้ธุรกิจนั้นสามารถก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างมั่นคงร่วมกัน