หนี้ครัวเรือนไทยลงรากลึก เกินกว่าเรื้อรัง ส่อฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า รัฐเร่งออกเครื่องยนต์กระตุ้นสารพัด ยังต้องเหนื่อย ลุ้นทั้งปีจะโตหรือนิ่ง

หนี้ครัวเรือน ไทยลงรากลึก เกินกว่าเรื้อรัง ส่อฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า รัฐเร่งออกเครื่องยนต์กระตุ้นสารพัด ยังต้องเหนื่อย ลุ้นทั้งปีจะโตหรือนิ่ง

เราพูดถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยกันมานานแล้วหลายปี แถมสัดส่วนหนี้ยังสูงเกิน 90% ต่อจีดีพีมาเรื่อยๆ กระทบกำลังซื้อกำลังจ่ายของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้า แม้ว่าขณะนี้จะมีพระเอกอย่างภาคการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทย

<ไตรมาส 3/67 หนี้เสียเร่งตัวขึ้น >
ล่าสุด ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่ารายงานภาระหนี้สินภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงิน 157 แห่งที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ครอบคลุมประชาชนคนไทยและผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินสมาชิก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมประมาณกว่า 30 ล้านคน จากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พบว่า หนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโร อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.8% ของหนี้รวม 13.6 ล้านล้านบาท โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในไตรมาส 4 ปี 66 มาสู่ 8.8% ในไตรมาส 3 ปีนี้

<หนี้เอสเอ็มอีน่าห่วงมากสุด>
คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นที่น่าสนใจก็คือ NPLs ไตรมาส 3/67 ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.1% และเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งพบว่า NPLs สินเชื่อบ้าน รถยนต์ เครดิตการ์ด และสินเชื่อส่วนบุคคลยังนิ่งๆ หรือโตไม่มากจากไตรมาสก่อน แต่ที่กังวลมาก คือ สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก หรือ SME ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 20% และเพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งนี่คือประเด็นที่สำคัญมาก

ส่วนหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้างของไตรมาส 3/67 อยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ลดลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเบาใจขึ้นได้บ้าง

<หนี้เสียลดยาก>
ในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสีย (TDR) คุณสุรพลระบุว่าตัวเลขสะสมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของ 13.6 ล้านล้านบาท ติดลบจากไตรมาสก่อนประมาณ 3% ซึ่งไม่ค่อยดี “เพราะมันอืด” ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสีย (DR) มียอดสะสมตั้งแต่ เม.ย. 67 มาหยุดที่ 1.2 ล้านบัญชี คิดเป็น 6.45 แสนล้านบาท

หากมองในแง่มุมของการสกัดหนี้ ขณะนี้จุดสกัดสำคัญนั้นอยู่ที่สถาบันการเงิน เพราะเห็นได้ชัด และจากข้อมูลของบรรดาภาคอสังหาฯ ที่ออกมาบอกเสมอว่าตอนนี้แบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านอย่างมาก เพราะกลัวว่าจะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ หากปล่อยกู้ไปโดยง่ายดายทั้งที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น หรือแม้แต่สินเชื่อรถที่ไม่ต่างกัน เพราะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ออกมาให้ข้อมูลเรื่อยๆ ว่าในตลาดรถยนต์ชะลอตัวลงชัดเจน จนกระทั่งทรุดลง เพราะแบงก์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อง่ายๆ ทำให้ยอดขายลามไปยังยอดผลิตแย่ไปตามๆ กัน โดยเฉพาะรถกระบะที่เป็นตัวสะท้อนสถานการณ์กำลังซื้อภาคการเกษตร การผลิตได้เป็นอย่างดี

<“หนี้” ตัวการใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ>
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง Debt deleveraging แบบใด เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้ ซึ่งเนื้อหาสำคัญคือกระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะท้าทายกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต สำหรับกระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP (Debt deleveraging) เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความเปราะบางทางการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนจากการบรรเทาปัญหาหนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

กระบวนการลดหนี้ของไทยในระยะต่อไปจะเผชิญความท้าทายกว่าในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงมาก ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปด้วย ภาวะนี้ต่างจากในอดีตที่กระบวนการ Deleveraging เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง การลดหนี้ครัวเรือนไทยในรอบนี้จึงเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น

Debt deleveraging เหมือนจะคืบหน้า แต่อาจไม่ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้ แม้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในภาพรวมจะลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2024 แต่ภาพที่ดูเหมือนจะคืบหน้านี้ เกิดขึ้นเพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นหลัก ตามความเสี่ยงของลูกหนี้รายย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก

ขณะที่ตัวเลข GDP ขยายตัวได้ต่ำ หากสถานการณ์ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและตัวเลข GDP ไทยขยายตัวต่ำทั้งคู่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเห็นผลลบต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคตตามมา ยิ่งจะทำให้การใช้คืนหนี้เดิมทำได้ยากขึ้น

ดังนั้นในมุมมองของ SCB EIC การที่เห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดกัน อาจไม่ใช่เครื่องชี้ที่ดีพอจะสรุปได้ว่า ครัวเรือนไทยเริ่มแก้ปัญหาหนี้ได้แล้ว แต่กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงต่อภาคครัวเรือน จะต้องช่วยลดภาระหนี้ในระดับแต่ละครัวเรือนได้ผ่าน 2 แนวทาง คือกระบวนการแก้หนี้เดิม จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ต่างกัน และกลไกนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จะต้องช่วยประคองเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวได้มากพอจะนำไปชำระหนี้ เพื่อหลุดจากปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน

<การแก้หนี้ต้องตรงจุด รายได้ครั้วเรือนต้องฟื้น มีพอจ่ายหนี้>
SCB EIC มองว่าการแก้หนี้และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้นั้น กระบวนการแก้ไขหนี้เดิมต้องครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาต่างกัน การสนับสนุนให้ครัวเรือนจัดการหนี้เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีกระบวนการแก้หนี้เดิมที่ครอบคลุมครัวเรือนที่กำลังมีปัญหาหนี้ให้ได้มากที่สุด ตอบโจทย์ปัญหาหนี้และความต้องการแก้หนี้ที่แตกต่างกันได้

นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องช่วยสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวในอนาคต การแก้หนี้เดิมของครัวเรือนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคองเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวเพียงพอกับรายจ่าย ด้านนโยบายการคลังไทยเริ่มมีพื้นที่การคลังจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเจาะจงครัวเรือนเปราะบาง ด้านนโยบายการเงินต้องเอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน โดยสามารถผ่อนคลายเพิ่มได้ หากจำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำลงอีก จนกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนตามมา

<รัฐเร่งออกเครื่องมือแก้หนี้>
ล่าสุด รัฐบาลได้จับมือกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แก้ปัญหาหนี้ โดยอนุมัติมาตรการแก้หนี้สินประชาชน และ SMEs ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ในกลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มนี้ดำรงชีวิตต่อไปได้ และมีกำลังชำระหนี้มากขึ้น
ทั้งนี้จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม โดยพักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ให้กลุ่มลูกหนี้ NPL มาไม่เกิน 1 ปี โดยจะมีการปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี (Cut of date) ไม่เกินวันที่ 31 ต.ค. 67

สำหรับเงื่อนไขใน 3 กลุ่มของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการนี้ ได้แก่

1. ลูกหนี้ที่เป็นหนี้บ้านกับสถาบันการเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี

2. ลูกหนี้ที่กู้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคัน และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี

3. ลูกหนี้กลุ่ม SMEs ที่กู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน

    โดยวงเงินรวมทั้งหมดที่จะเข้าโครงการนี้คิดเป็นมูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายรวม 2.3 ล้านบัญชี โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยรายละเอียดทั้งหมดคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง

    สำหรับลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์ใน 3 กลุ่มที่เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่

    1. หนี้บ้าน 4.6 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.83 แสนล้านบาท

    2. หนี้รถ 1.4 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.75 แสนล้านบาท

    3. หนี้เอสเอ็มอีที่กู้เพื่อประกอบอาชีพ 4.3 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.54 แสนล้านบาท

    ซึ่งกลุ่มที่มีสิทธิเข้าโครงการต้องลงทะเบียนเข้าโครงการถึงจะได้รับการช่วยเหลือ

      <เพิ่มเครื่องมือ ลดเก็บเงินส่ง FIDF เหลือ 0.23%>
      แหล่งเงินที่ใช้ดำเนินการจะไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่จะร่วมกับสถาบันการเงิน 2 แนวทาง คือรัฐบาลจะลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี จาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินมาช่วยชำระดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้จ่ายชำระเงินต้น และสถาบันการเงินจะใส่เงินเข้ามาตรงนี้ส่วนหนึ่งด้วยแต่จะใส่เงินเข้ามาเท่าไรนั้นรายละเอียดในส่วนนี้ กนส. จะเป็นฝ่ายที่ให้ข้อมูลรัฐบาลได้พิจารณาแล้ว และเห็นว่าตอนนี้เรื่องการแก้หนี้สินที่มีปัญหาในส่วนนี้มีความสำคัญมาก ส่วนการกำหนดการเก็บเงินเข้ากองทุน FIDF บริหารจัดการได้ แม้ว่าจะมีข้อกังวลว่าจะทำให้การจ่ายหนี้ในส่วนนี้ช้าลงก็ตาม

      ส่วนกรณีที่ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เพราะแบงก์เองก็ยังกังวลว่าในภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ อาจจะเกิดปัญหาผิดนักชำระหนี้ได้นั้น กระทรวงการคลังแก้ไขด้วยการเพิ่มหลักประกันในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ที่มีการเพิ่มวงเงินเป็นระยะ และในระยะต่อไปจะเปลี่ยนไปเป็นกลไกของสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแบงก์ด้วย

      <แจกเงินหมื่นเฟส 2 กระตุ้นกำลังซื้ออีก 1.4 แสนล้าน>
      หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางไปในเฟสแรกแล้ว 1.45 แสนล้านบาท คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าจากรายงานการประเมินผลพบว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และจะส่งผลถึงเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ที่ทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2.8% ซึ่งในปี 2568 ก็จะยังคงได้อานิสงส์ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ในเฟสที่ 2 ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 4 ล้านราย ซึ่งจะปรับโครงการให้จ่ายเงินได้ก่อนวันตรุษจีนนี้อีกด้วย

      แต่จะต้องลงทะเบียนผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ และจะประกาศผลการลงทะเบียนหลังจากตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 67 นี้

      ส่วนกลุ่มที่เหลือที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนที่จะเปิดให้ลงทะเบียนระยะต่อไป จะจ่ายในเฟสที่ 3 ซึ่งเงินจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจเดือน เม.ย. – มิ.ย. 68 โดยจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือวงเงินรวม 1.47 แสนล้านบาท

      คุณจุลพันธ์ คาดว่าในไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซันจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม ถ้าเป็นไปตามนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ ส่วนจะเกิน 3% หรือไม่ ต้องพยายาม

      ยังไม่นับรวมมาตรการอื่นๆ จากภาครัฐและเอกชนที่ต่างช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยเฉพาะมาตรการฟื้นเศรษฐกิจจากน้ำท่วม ของ ททท. มาตรการสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือเกษตรกร ในการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูกิจการ พื้นที่การเกษตร สินเชื่อซื้อ ซ่อม สร้าง มาตรการเที่ยวคนละครึ่ง ที่เน้นช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ประสบอุทกภัย ก็นับเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลพยายามงัดขึ้นมาใช้ เพื่อหวังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นให้เร็วที่สุด

      ความหวังในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า ที่เรานับเป็นช่วงไฮซีซั่น จะมีเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยว แต่อย่าลืมว่าเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอันดับแรกนั่นก็คือ “หนี้ครัวเรือน” ที่เปรียบเสมือนซุงท่อนใหญ่ขวางทางจราจรเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วหากผลักซุงท่อนนี้ลงข้างทางไปก่อนได้ ก็น่าจะเป็นการเปิดทางให้เศรษฐกิจไทยได้เดินต่อไปข้างหน้าได้เต็มที่ ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่แสนจะท้าทายของรัฐบาลมากที่สุด อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะจริงจังกับการแก้ไขปัญหาหนี้มากแค่ไหน ???…

      ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
      Latest Posts

      Related Articles