นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์แรงงานในไตรมาส 3/67 ว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 0.1% จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์อุทกภัย ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ที่ 1.4% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าขยายตัวได้มากที่สุด 14% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ 6.1% ขณะที่สาขาการผลิตหดตัว 1.4% โดยเฉพาะในการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์
สำหรับชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องการทำงานเพิ่ม โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 43.3 และ 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 3.8% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลง 32.9% และผู้ทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้น 15% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 1.02% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่1. การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิม ให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิม ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งการเลิกจ้าง การลด OT ตลอดจนการใช้มาตรา 75 การสมัครใจลาออก และการเกษียณก่อนกำหนด
2. การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และอาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว
3. ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัย ที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางปี 67 ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรตรวจสอบ และควบคุมราคาไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยน้ำท่วม