จากกรณีที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระทรวงการคลัง มีแนวทางจะปรับปรุงการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ที่เก็บ 7% จากกำหนดไว้ 10% กำลังศึกษาอาจปรับเป็น15% นั้น
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า แนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากเดิม 7% เป็น 15% จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติปรับขึ้นเป็น 10% แต่ยังกลับมาใช้ที่ 7% ก่อนนั้น การปรับขึ้นแวตในสถานการณ์อย่างปัจจุบัน ยอมรับว่าจะมีผลกระทบทำให้ร้านอาหารในระบบตายเรียบแน่นอน จากธุรกิจร้านอาหารล้มหายตายจากไปแล้วกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี 2567 หากมีการปรับแวตขึ้นมาอีก ถือเป็นการซ้ำเติม เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจเดียวที่มีแวตจากการขายอาหาร แต่ไม่มีแวตในการซื้อสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ทั้งอาหารและผักสด ผลกระทบต่อร้านอาหารจึงมี 2 กรณี คือ 1.ร้านอาหารตาย และ 2.ร้านอาหารต้องโยนภาระไปให้ผู้บริโภคแบบ 100% ตามการขึ้นแวตจาก 7% เป็น 15% ราคาอาหารจะปรับขึ้นไปอย่างน้อย 20-25% เพื่อให้ต้นทุนสามารถครอบคลุมภาษีแวตดังกล่าว
โดยหากออกมาตรการในการเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% เท่ากับ ร้านอาหารจะหนีออกจากระบบอีกเยอะมาก หรือร้านอาหารที่เปิดใหม่ก็จะไม่ยอมเข้าระบบเพื่อเสียภาษี มาตรการของรัฐบาลที่จะออกมาเหมือนเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ในการจัดเก็บภาษีที่ควรมากขึ้นให้ลดลงแทน แทนที่รัฐบาลจะสามารถเก็บแวตได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นจากธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะผลกระทบจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อยู่ในระบบอยู่แล้วต้องปิดตัวลงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสู้ต้นทุนที่มีอยู่ไม่ไหว แถมยังมีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่ม
ด้านนายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สำหรับโรงแรมหากปรับแวตจะกระทบ 2 เด้ง ทั้งกำลังใช้จ่ายลูกค้าที่เจอราคาสูงในการซื้อสินค้าหรือบริการต้องชะลอการใช้เงินกับการท่องเที่ยวหรือเดินทาง กับ ผลกระทบต้นทุนและรายได้ของธุรกิจเอง เพราะปกติอัตราห้องพัก จะคิดเป็นแบบเหมาซึ่งแวตอยู่ในนั้น หากปรับขึ้นแวตแต่เราต้องกำหนดห้องพักเท่าเดิม ก็เท่ากับต้องแบกรับต้นทุนไว้เอง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันหากไม่ใช่วันหยุดหรือเทศกาล จำนวนจองห้องพักก็ยังอยู่ในอัตราต่ำ