เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การปฏิรูปรายได้ภาครัฐและการปรับโครงสร้างภาษี มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาว แนวทางที่เหมาะสมในการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายภาครัฐจะนำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจไทยมีอัตราขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่องหลายปี มีความจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี และหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาอยู่เหนือ 60% ต่อจีดีพี
โดยตั้งแต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโควิดปี 2563 หนี้สาธารณะยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และยังต้องทำงบประมาณขาดดุลไปเรื่อยๆอีกหลายปีต่อเนื่องกัน คาดการณ์ได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุระดับ 70% ภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าและอาจมีความจำเป็นในการต้องขยับเพดานขึ้นไปอีก ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นในการหารายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นหรือทำให้เศรษฐกิจโตสูงขึ้น
จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก กรณีแย่ที่สุดไม่มีการปฏิรูปทางการคลังใดๆเลยทั้งด้านรายได้ภาครัฐและรายจ่ายภาครัฐ และ ไทยต้องเผชิญสังคมชราภาพที่มีค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการบำนาญสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 2037 (ปี พ.ศ. 2580) หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุ 80% ในปี ค.ศ. 2047 ไทยจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุระดับ 110%
อย่างไรก็ตาม หากเดินหน้าปฏิรูปภาคการคลังเต็มที่ จะดึงให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับมาอยู่ในระดับไม่เกิน 60% ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า แต่อยู่บนสมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องเป็นไปตามเป้าหมาย การสามารถลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงมาได้ในระดับต่ำกว่า 60% จะทำให้ “ประเทศไทย” มีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นในการเพิ่มการใช้จ่ายหรือลดภาษีในอนาคตเมื่อเจอวิกฤตการณ์ต่างๆ และ รัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศได้ในทันที อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้สกุลเงินบาทหรือหนี้ภายในประเทศ ความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทของคนในประเทศยังสามารถรองรับการออกพันธบัตรของรัฐบาลได้ หนี้สาธารณะส่วนใหญ่จึงถือครองโดยนักลงทุนไทย โครงสร้างหนี้สาธารณะดังกล่าวทำให้ “ไทย” สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกและการอ่อนตัวอย่างรวดเร็วของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางและระยะยาว การเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง การปฏิรูปรายได้ภาครัฐ การปรับโครงสร้างภาษี และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐมีความสำคัญต่อการรักษาความยั่งยืนทางการคลังและเป็นหลักประกันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ
ในส่วนของแนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่ามาตรการเข้มงวดทางการคลังสามารถดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวอย่างอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย แนวทางการขยายฐานรายได้ภาครัฐมากกว่าการลดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการลงทุน รัฐบาลควรเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ทั้งการศึกษาและสาธารณสุข การคุ้มครองทางสังคม ซึ่งการขยายฐานรายได้นี้รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยอาจจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นปีละ 1% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 จากระดับ 7% เป็น 10% ในปี พ.ศ. 2571 และควรมีปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและอาจพิจารณาปรับลดหรือเพิ่มภาษีเงินได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและกระตุ้นให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น