นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท วันนี้ เปิดที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาท ในช่วง 24 ชั่วโมง
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.18-34.62 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ตามคาด ทว่า เฟดได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ลง จากเดิมที่เฟดเคยประเมินไว้ว่าอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง (-100bps) เหลือเพียง 2 ครั้ง (-50bps) ใกล้เคียงกับที่ตลาดได้คาดหวังก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด
อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง press conference ได้ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ หากคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงหนักกว่า -2.3% ของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าอ่อนค่าลงมากกว่าโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ที่ประเมินไว้พอสมควร หลัง Dot Plot ใหม่ของเฟด สะท้อนการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ที่น้อยกว่าที่เราประเมินไว้ นอกจากนี้ เงินบาทยังทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ ทำให้เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เราต้องยอมรับว่า เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสจบสิ้นปีนี้ ในระดับที่อ่อนค่ากว่าที่เราประเมินไว้ (33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์) ได้พอสมควร โดยมองกรอบวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.75 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เงินบาทเสี่ยงเคลื่อนไหวลักษณะ Two-Way (อ่อนค่าลงต่อ หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง) ซึ่งจะขึ้นกับผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักที่เหลือในวันนี้ ทั้ง BOJ และ BOE โดยในกรณีที่ BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish Hold) ก็อาจช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทลง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หรือในกรณีที่ BOJ เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (โอกาสน้อยมาก) ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง กดดันเงินดอลลาร์ได้พอสมควร ในทางกลับกัน หาก BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด แต่กลับไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เรามองว่า เงินเยนญี่ปุ่นเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อทดสอบ โซน 156 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ส่วนผลการประชุม BOE นั้น ต้องระวังกรณีที่ BOE แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณว่าอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว 2 ครั้ง ซึ่งในภาพดังกล่าวอาจยิ่งกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงเพิ่มเติมได้ หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง