SCB EIC หั่นจีดีพีไทยปี 68 เหลือโต 2.4% ยังเสี่ยงจากผลกระทบนโยบายทรัมป์ 2.0

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า SCB EIC ได้ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 68 เหลือเติบโต 2.5% จากเดิม 2.8% จากนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งจะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และแรงงานเป็นหลัก โดยหลายประเทศหลักได้เตรียมชุดมาตรการลดผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย “Trump 2.”0 ไว้บ้างแล้ว แต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศ อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิของชุดนโยบาย “Trump 2.0” ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นลบ แต่จะไม่แรงมาก เพราะหลายนโยบายจะช่วยเร่งการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีเงินได้ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ (Deregulation) และทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินโลก จะเริ่มแตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า และการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ

อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อโลกอาจไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง อีกทั้งราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามอุปสงค์โลก และการเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของ Trump ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัย Trump 2.0 กดดันเพิ่มเติม แต่สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันเงินเยนอ่อนค่ามากจาก Trump 2.0

สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ปี 68 จะเจอแรงกดดันจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 อาจขยายตัวได้ถึง 4% ตามแรงส่งการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/67 รวมถึงการท่องเที่ยว จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวได้ 2.7%

ส่วนปี 68 SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 ลงเหลือเติบโต 2.4% จากเดิม 2.6% เนื่องจากประเมินว่าจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐจะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้า และต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ปัญหา China?s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด และอุปสงค์ในประเทศซบเซา สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลง เพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการซื้อบ้านและรถในปีหน้า โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญ คือ การขออนุมัติสินเชื่อ ปัจจัยราคา รายได้ และภาระชำระหนี้ ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ มีแนวโน้มจะปรับแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ มีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น และยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการฯ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Mega trends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง แต่ขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย แม้ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการบางส่วน สามารถปรับตัวเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทดแทนได้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles