บอร์ดค่าจ้างประชุมพิจารณาปรับขึ้นอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำ ท่ามกลางแรงกดดันที่ต้องการเห็น 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำ ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตั้งเป้าประกาศในอัตรา 400 บาททั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน ปรากฏว่าการประชุมในครั้งนี้ กรรมการไตรภาคีประกอบด้วย ฝ่ายรัฐจำนวน 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 5 คน และฝ่ายลูกจ้าง 5 คน รวม 15 คนมากันครบองค์ประชุม

การประชุมวันนี้เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายรับ ที่ต้องการเห็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่การประชุมรอบที่ผ่านมา ได้ให้แต่ละจังหวัดไปทำตัวเลขมาใหม่ และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะได้ไม่เท่ากันทั่วประเทศ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา 4 ชั่วโมงกว่าก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ดี ก่อนการประชุม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบนโยบายผ่านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุมให้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ และให้นำโมเดลการรับค่าจ้างปี 2555 วันละ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศมาเป็นต้นแบบในการพิจารณา

โดยตั้งแต่ปี 2555 จนจนถึงวันนี้ 12 ปี ค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำที่สุด ยังอยู่ที่วันละ 332 บาทเท่ากับ 12 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยขึ้นปีละสองถึง 3 บาท ซึ่งซื้อไข่ไก่หนึ่งฟองยังไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็มีจังหวัดที่สามารถขึ้นไปได้ถึง 70 บาทค่าเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 6 บาท ซึ่งในแต่ละปีการเติบโตทางเศรษฐกิจ บวกกับอัตราเงินเฟ้อ ควรจะปรับไม่น้อยกว่า 3% เพราะค่าสินค้า ค่าไฟ ค่าน้ำปรับขึ้นไปแล้ว จึงตั้งโจทย์ไว้ว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ควรจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่วันละ 400 บาท

สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบของนายจ้างหลังประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ เบื้องต้นได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยไม่อยากให้สังคมโทษว่าการปรับค่าจ้างทำให้เกิดการปิดกิจการ การเลิกจ้างซึ่งมองว่าธุรกิจที่ปิดตัวหรือถูกเลิกจ้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งในทุกปีแม้เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี จะมีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่และมีธุรกิจปิดตัวลง ถือเป็นวัฏจักร หรือวงล้อมของการทำธุรกิจ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles