กรมพัฒน์เปิด 5 ธุรกิจดาวรุ่งมีอนาคต รับสังคมสูงอายุดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวสนุกยันบันเทิง ผุดโอกาสธุรกิจใหม่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึกของปี 2567 ที่ปัจจุบันมียอดรวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ทั้งข้อมูลจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ มาทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งจำนวน 5 ธุรกิจ ที่มีการจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นมีดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจกีฬา และการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬาได้รับประโยชน์โดยตรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและหันมาออกกำลังกายมากขึ้น โดยในช่วง 11 เดือนปี 2567 ตั้งใหม่ 732 ราย เพิ่มขึ้น 36.31% ทุนจดทะเบียนมูลค่า 1,751.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.77% ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ ธุรกิจด้านสถานที่ออกกำลังกายและสอนออกกำลังกายที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 27% และกลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย มีรายได้รวม 93,397.82 ล้านบาท
2. กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์ สืบเนื่องจากการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของโรงแรมที่พัก สปา ร้านอาหาร ขณะเดียวกัน ธุรกิจความบันเทิง การแสดงโชว์ ก็มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 1,976 ราย เพิ่มขึ้น 31.82% ทุนจดทะเบียน 6,427.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น % และปี 2566 กลุ่มธุรกิจมีรายได้รวม 359,670.04 ล้านบาท
3. กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์ ซึ่งถือเป็นปีทอง เพราะรัฐบาลมีนโยบายผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งการลดภาษี และการสนับสนุนการผลิต ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตจำนวน 7 แบรนด์ผู้ผลิต ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 1,033 ราย เพิ่มขึ้น 21.53% ทั้งนี้ เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61% และทั้งกลุ่มมีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท
4. กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ สอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เติบโต เช่น ธุรกิจการผลิตกล่องกระดาษ ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 2,283 ราย เพิ่มขึ้น 19.03% ทุนจดทะเบียน 3,979.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.42% และทั้งกลุ่มมีรายได้รวม 444,101.69 ล้านบาท
5. กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมตลาด พัฒนา การจับคู่ธุรกิจ และนำเสนอกับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ทั่วโลก เช่น จัดตั้งศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) การสอดแทรกวัฒนธรรมการท่องเที่ยว อาหารลงไปในเนื้อหาภาพยนตร์ และผลักดันพื้นที่ต่าง ๆ สู่การเป็นศูนย์กลางเมืองถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 242 ราย เพิ่มขึ้น 10% ทุนจดทะเบียน 630.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116.92 และทั้งกลุ่มมีรายได้รวม 43,122.90 ล้านบาท

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles