สภาผู้บริโภค ร้อง กกพ.ยุติซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 ชี้สร้างภาระค่าไฟฟ้ากว่า 65,000 ล้านบาท ทำคนไทยจ่ายค่าไฟแพง ทั้งรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป ยาว 25 ปี

สภาผู้บริโภค ร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล และ กกพ. ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หยุดสร้างภาระค่าไฟฟ้ากว่า 65,000 ล้านบาท ให้ผู้บริโภคทั้งรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป โดยเนื้อหาระบุว่า

ตามที่คณะกรรมการ กกพ. ได้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (รอบเพิ่มเติม) จำนวน 2 กลุ่ม แบ่งเป็น ก) พลังงานแสงอาทิตย์แบบตั้งพื้นบนดิน 1,580 เมกะวัตต์ และ ข) กังหันลมจำนวน 565.4 เมกะวัตต์ รวม 2,145.5 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการประมูล แต่ใช้วิธีการคัดเลือก ซึ่งใช้ราคารับซื้อที่กำหนดโดยมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 คือ 2.17 บาท/หน่วย สำหรับไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และ ราคา 3.10 บาท/หน่วยสำหรับไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยที่ราคารับซื้อดังกล่าว จะคงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี นั้น

การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติมที่ไม่ได้ใช้วิธีการประมูล แต่กลับใช้วิธีการคัดเลือก อาจ “ไม่มีประสิทธิภาพ” มากเพียงพอ เนื่องจากไม่มีการเปิดให้มีการแข่งขันโดยวิธีการประมูลราคาเพื่อหาราคาที่เหมาะที่สุด และในอนาคต จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงนานถึง 25 ปี

ขณะที่ ราคาที่ กกพ.ใช้กำหนดการรับซื้อในโครงการนี้ อ้างอิงตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปี 2565 ทำให้เมื่อถึงปี 2569 หรือปี 2571 ที่จะเริ่มดำเนินโครงการจริง ราคารับซื้อจะสูงกว่าราคาตลาดที่ควรจะเป็นประมาณ 20 – 30%

“ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคเคยยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกเลิกประกาศ กกพ. ในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.67 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าหรือการตอบกลับจาก กกพ. ดังนั้น สภาผู้บริโภค และเครือข่ายด้านพลังงาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ กกพ. ต้องหยุดเดินหน้าโครงการฯ ที่จะทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าไปอีก 25 ปี” สภาผู้บริโภค ระบุ

รายงานจากองค์กร IRENA (International Renewable Energy Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ มีการศึกษาประเด็น Renewable Power Generation Costs in 2023 ยังชี้ให้เห็นว่าในปี 2566 ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจากโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ทั่วโลก อยู่ที่ 1.53 บาท/หน่วย และอาจต่ำกว่านี้เมื่อถึงปี 2569

ขณะที่ข้อมูลจากรัฐบาลอินเดีย โดย SECI (Solar Energy Corporation of India) ยังระบุว่า โครงการโซลาร์เซลล์พร้อมระบบแบตเตอรี่ในประเทศนั้น สามารถเสนอขายไฟฟ้าในราคาเพียง 1.44 บาท/หน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคารับซื้อของโครงการ กกพ. ที่ไม่ได้รวมระบบแบตเตอรี่ ดังนั้น อาจเป็นการยืนยันว่าผลการศึกษาของ IRENA มีแนวโน้มที่ถูกต้อง และเป็นไปได้จริง

เมื่อนำข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวมาคำนวณอย่างเป็นระบบ โดยยกตัวอย่างเมื่อมีการขายไฟฟ้าจริงในปี 2568 จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการของ กกพ. แพงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตลอดอายุสัญญา 25 ปี อย่างน้อยรวม 65,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน เร่งจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) ที่ดำเนินการมานานกว่า 3 ปีแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยในการจัดทำแผน PDP2024 หรือ PDP2025 ต้องเน้นการพึ่งตนเองของชาติ ภายใต้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และต้องผลักดันให้ผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิต และผู้ขายไฟฟ้า (Prosumer) เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles