นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าวพุทธศักราช 2489 ครั้งที่ 1/2568 เพื่อทลายทุนผูกขาด เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในการส่งออกเสรีข้าว ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน และนางอารดา เฟื่องทอง ร่วมด้วย
โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบการขออนุญาตประกอบการค้าข้าว เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในการส่งออกข้าว ได้แก่
1. ปรับเงื่อนไขการสต๊อกข้าวของผู้ส่งออก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ (ม.ค.68) โดย
– กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ไม่ต้องสต๊อกข้าว
– ผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านบาท ปรับลดสต๊อกข้าวจาก 500 ตัน เหลือ 100 ตัน
2. ปรับค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป และผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุหีบห่อ
– กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ไม่เก็บค่าธรรมเนียม ในการขออนุญาต
– ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกทั่วไปบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านบาท ลดค่าธรรมเนียมให้จาก 50,000 บาท เหลือ 10,000 บาท สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 10 – 20 ล้านบาท เหลือ 30,000 บาท
– สำหรับผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ (ส่งออก แบบมีบรรจุภัณฑ์ ไม่เกิน 12 กิโลกรัม) ลดค่าธรรมเนียมให้จากเดิม 20,000 บาท เหลือ 10,000 บาท
ส่วนการปรับลดค่าธรรมเนียม จะต้องออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งต้องมีการเสนอ ครม. และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างกฎกระทรวง คาดว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยภายในมีนาคม 2568 และหลังจากนี้จะดำเนินการต่อในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อเป้าหมายการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตและแข่งขันกับต่างประเทศได้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดการค้าข้าวเสรี มีเป้าหมายยกเลิกสต๊อกและค่าธรรมเนียมทั้งหมด รวมถึงการร่วมมือในการจดตั้งบริษัทและการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าวให้เสร็จภายในการขอครั้งเดียว
นายพิชัยระบุว่า การปรับปรุงกฎระเบียบนี้ กรมการค้าภายใน ได้เปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการค้าข้าว ทั้งผู้ส่งออก โรงสี ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก ภาคเกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นประโยชน์ช่วยลดต้นทุน และเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถส่งออกข้าวได้เอง