นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจผพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท.ให้มีความเหมาะสม
สำหรับ พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทยฉบับใหม่นั้น กทท.สามารถดำเนินการกิจการต่างๆ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของ กทท.ได้ ที่สำคัญให้ กทท.สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ดังนั้น จึงมีแนวทางที่จะให้ กทท.จัดจั้งบริษัทย่อย เพื่อต้องการให้มีการบริหารจัดการแบบเจาะจง โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉะบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพระดับสากล โดยการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่งดังกล่าว จะนำมาซึ่งการเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GPD) รวมถึงสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.การท่าเรือ ฉบับใหม่ ยังเพิ่มเติมให้ กทท.สามารถลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ กทท.สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีทรัพยสิทธิ หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้ อีกทั้งกำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้งการจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ