ผลสำรวจ ผู้บริหาร ส.อ.ท.แนะรัฐเร่งปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าก่อน รับมือสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้น

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 43 ในเดือนมกราคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อนโยบายการปฏิรูปภาษีไทย” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ เห็นด้วยหากภาครัฐดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามการค้าที่คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงเวลานี้ ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย

จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเป็นปัจจัยหลักที่ควรต้องนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยตามเทรนด์เทคโนโลยีโลกไม่ทัน ส่งผลทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะเดียวกันแนวทางการปฏิรูปภาษีควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีแผนและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนให้ภาคธุรกิจปรับตัว ตลอดจนออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า การปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ในอัตรา 15% ที่มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 นั้น อาจทำให้ภาครัฐไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนได้ดังเดิม ดังนั้นภาครัฐต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ พร้อมทั้งเตรียมปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องเหมาะสม และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม (Rule of law กฎหมายสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมแรงงานทักษะสูงรองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 125 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 43 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้
1) ปัจจัยใดที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายการปฏิรูปภาษีไทย
อันดับ 1 : โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม 67.2%
อันดับ 2 : ความสามารถในการแข่งขันในด้านภาษีกับประเทศคู่แข่ง 66.4%
อันดับ 3 : เสถียรภาพทางการคลังและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 39.2%
อันดับ 4 : แนวทางการปฏิบัติตามกฎกติกาสากล เช่น OECD 13.6%

2) ภาครัฐควรดำเนินนโยบายการปฏิรูปภาษีไทยอย่างไร
อันดับ 1 : ปรับโครงสร้างภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไปควบคู่กับมาตรการบรรเทาผลกระทบ 62.4%
อันดับ 2 : ขยายฐานภาษีและส่งเสริมให้เศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในระบบ 52.0%
อันดับ 3 : การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านภาษี 44.0%
อันดับ 4 : ยึดหลักการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และการเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน 25.6%

3) การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ที่อัตรา 15% จะส่งผลดีอย่างไร
อันดับ 1 : ลดต้นทุนทางภาษีให้กับบริษัท เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน 59.2%
อันดับ 2 : ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และลดแรงจูงใจที่นักลงทุนจะย้ายฐานไปประเทศที่มีภาษีต่ำกว่า 44.8%

อันดับ 3 : ส่งเสริมความเท่าเทียมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้มาตรฐานภาษีที่เท่าเทียม 43.2%
อันดับ 4 : ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนซ้ำภายในประเทศ และมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มมากขึ้น 27.2%

4) ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ที่อัตรา 15% ในเรื่องใด
อันดับ 1 : ความสามารถในการแข่งขันด้านการดึงดูดการลงทุน จากต่างประเทศด้านอื่นๆ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ 64.0%
อันดับ 2 : การปรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI 44.0%
อันดับ 3 : การปรับตัวของผู้ประกอบการจากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลตาม GMT 36.0%
อันดับ 4 : แผนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ (FDI) อาจหยุดชะงัก 16.8%

5) ภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นต่อนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างไร
อันดับ 1 : ไม่เห็นด้วย 62.4%
อันดับ 2 : เห็นด้วย 37.6%

6) ภาครัฐควรเร่งพิจารณาปรับปรุงภาษีประเภทใด
อันดับ 1 : ภาษีนำเข้า 48.8%
อันดับ 2 : ภาษีนิติบุคคล 44.8%
อันดับ 3 : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 38.4%
อันดับ 4 : ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 32.8%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles