กสทช. วางมาตรการเข้มงวด สกัดเส้นทางการเงิน ตัดวงจรแก๊งคอลเซนเตอร์

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เพื่อให้บรรลุภารกิจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณแนวชายแดนไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นภัยทางสังคมของประเทศ จากนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จะเดินหน้าทำงานร่วมกับตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเข้มข้น โดยสำนักงาน กสทช. ได้ออกแนวทางในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเพื่อตรวจสอบและปิดกั้นข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ (IP Address) ของคนร้าย โดยขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้ธนาคารส่งข้อมูล IP Address ของคนร้ายที่ใช้ Mobile Banking โอนเงิน และ IP ของเครื่องแม่ข่ายที่คนร้ายใช้โอนเงินผ่านธนาคาร ให้กับตำรวจเพื่อตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงินของคนร้าย

(2) ให้สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่งข้อมูล IP Address ของคนร้ายให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) ในประเทศ ประกอบด้วย IP Address, เวลาที่ใช้ในการส่งข้อมูล (Timestamp), IP Address ปลายทางของเครื่องแม่ข่ายที่คนร้ายใช้โอนเงินผ่านธนาคาร, เลขหมายคดีที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อตำรวจ (Case ID) และส่งข้อมูล URL คนร้ายให้แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินการ

(3) ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการใช้งานของคนร้ายชั่วคราว และตรวจสอบพร้อมจัดทำข้อมูลผู้ใช้งาน ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ระงับความเสียหายได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการอาศัยอำนาจของตำรวจ ตามมาตรา 4 วรรคท้าย ของ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ประกอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อ 20 เรื่อง การดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของสังคมและความมั่นคงของรัฐ ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตพึงระมัดระวังเท่าที่เป็นไปได้ในเชิงเทคโนโลยีมิให้ผู้ใดนำโครงข่ายโทรคมนาคมหรือนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของผู้รับใบอนุญาตไปใช้ในการประกอบธุรกิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเผยแพร่ซึ่งข้อมูลอันอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องสนับสนุนหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการดำเนินการใด ๆ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยของสังคมและความมั่นคงของรัฐ”

ดังนั้น หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใด ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. จะได้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles