สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ ประจำไตรมาสที่ 4/67 และสรุปภาพรวมตลอดปี 67 โดยเปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลก ที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC) ซึ่งได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน ขณะที่ประเทศไทย ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 67 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำ สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เทียบกับปีก่อน
สภาทองคำโลก ระบุว่าความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 67 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง และแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้ง และปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งผลให้ความต้องการทองคำรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยธนาคารกลาง ยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่องในปี 67 โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4/67 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปี อยู่ที่ 1,045 ตัน
ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 67
ทั้งนี้กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 67 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 2 สำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะที่ความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำทั่วโลก ยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 66 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 67
โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4/67 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 67 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน
อย่างไรก็ดีเนื่องจากสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูง สภาทองคำโลก จึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 67 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยยังคงแข็งแกร่ง และปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9 ตัน
ทั้งนี้การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้น มีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดีย ยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่ง และลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์