เปิดความจริงรุ่นลูกรับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อแม่ ไปต่อ–พอแค่นี้ l 12, 15 ก.พ. 68 FULL l BTimes

ทลายกฎรุ่น 3 ทำธุรกิจครอบครัวล้มเหลว ค้นทางรอด เฟ้นทางแก้ สู่ความสำเร็จพากิจการเดินหน้าต่ออย่างยั่งยืน

หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคผ่านๆ หูมาบ้างว่า ‘รุ่นที่ 3 มักทำธุรกิจเจ๊ง’ ฟังครั้งแรกก็คงตกใจไม่น้อยว่าทำไมถึงเกิดความคิดแบบนี้ แต่หากเทียบกับผลสำรวจชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะพบว่าธุรกิจกว่า 80% ในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) และธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,526 บริษัท หรือคิดเป็น 77.58% ของบริษัททั้งหมด แต่มีเพียง 30% ที่อยู่รอดและส่งผ่านไปยังทายาทเจน 2 จากนั้นจะมีเพียง 12% ที่ถูกส่งต่อไปถึงทายาทเจน 3 กระทั่งเหลือเพียงแค่ 3% ที่ไปถึงมือทายาทเจนที่ 4 ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการสืบทอดให้ประสบความสำเร็จและไปต่อได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ อย่างในการประคับประคอง

คุณเจ – นวพล วิริยะกุลกิจ Managing Director, Family Business Asia

“ธุรกิจครอบครัวไม่ได้อายุสั้น หรือไม่ได้น่าตกใจ หรือน่ากังวลอะไรขนาดนั้นในเรื่องของความยั่งยืน”

คุณเจ – นวพล วิริยะกุลกิจ Managing Director, Family Business Asia ได้กล่าวว่าธุรกิจครอบครัวไม่ได้มีความน่ากังวลใจในเรื่องของความยั่งยืน เพราะได้ไปเจอกับวิจัยจาก Harvard Business Review พบว่าทั้งหมดที่เราๆ เคยเจอกันมา อาจจะถูกตีความผิดไปเล็กน้อย เพราะในวิจัยได้เทียบให้เห็นชัดๆ ว่าจากเจน 1 ไปจนถึงสิ้นเจน 2 ถ้าเทียบออกมาเป็นสัดส่วนจะเท่ากับ 60 ปี (เจน 1 และ 2 ใช้เวลาในการบริหารคนละ 30 ปี) แล้วเหลือ 30% เพราะฉะนั้นอายุของธุรกิจครอบครัวที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นจะเท่ากับบริหาร 60 ปีแล้วเหลือ 30% จากนั้นผู้เขียนวิจัยเล่มนี้ก็ได้ศึกษาต่อไปอีกจนพบว่าธุรกิจในช่วงเวลาเดียวกันกับงานวิจัยชิ้นแรกระบุว่าธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 25,000 ราย มีอายุเฉลี่ยของอยู่ที่ 15 ปี ในส่วนของสตาร์ทอัพเทียบ 100 ราย ผ่าน 5 ปีจะเหลือรอดไม่เกิน 5% ดังนั้นธุรกิจครอบครัวไม่ได้มีอายุสั้นหรือมีความน่ากังวลใจในเรื่องของความยั่งยืนมากนัก

เหตุใด ‘ธุรกิจกงสี ≠ ธุรกิจครอบครัว’

ทั้ง 2 คำนี้ดูยังไงก็น่าจะให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสถานยังให้นิยาม ‘กงสี’ ไว้ว่าหมายถึงทรัพย์สินกองกลางที่ใช้ร่วมกันสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นเท่ากับว่ากงสีจะกลายเป็นสมบัติของตระกูล จึงไม่มีใครอยากนำไปเสี่ยงให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง แต่เมื่อเป็นธุรกิจครอบครัว ตัวคนบริหารจะรู้สึกว่าบริหารง่ายกว่า กล้าลงทุนมากกว่า ทำให้เกิดการกล้าที่จะเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนได้

(ขอบคุณรูปจาก wichayada suwanachun, www.vecteezy.com)

ในเมื่อทุกอย่างเหมือนจะดี แล้วทำไมธุรกิครอบครัวจึงมีปัญหา?

จากผลการศึกษาจะพบว่าพ่อแม่มักสร้างทางเลือกมากมายให้กับทายาท ส่งผลให้เขาเหล่านั้นมีความฝันและโอกาสที่เปิดกว้าง สวนทางกับเป้าหมายสุดท้ายที่ว่าทายาทต้องกลับมาสานต่อกิจการดั้งเดิม นั่นจึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้ทายาทส่วนมากไม่อยากรับช่วงต่อธุรกิจ หรือจำใจรับช่วงต่อแบบขมขื่น แต่ก็มีส่วนน้อยที่การตัดสินใจรับช่วงต่อธุรกิจตอบโจทย์ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์

แต่เมื่อศึกษาลึกไปอีกจะพบว่าธุรกิจครอบครัวในเทียบไทยและต่างประเทศจะมีความแตกต่างกันอยู่เพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่รุ่นพ่อแม่กล้าที่จะส่งต่อธุรกิจให้กับผู้ที่มีความสามารถในการบริหารมากกว่าลูก คล้ายกับในญี่ปุ่นที่ไม่ได้แคร์สายเลือด หากลูกเขยหรือลูกสะใภ้มีความสามารถในการบริหาร ก็พร้อมที่จะยอมรับ พร้อมให้เปลี่ยนนามสกุลและส่งต่อธุรกิจให้สานทันที กลับกันกับประเทศไทยที่ยกเรื่องสายเลือดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในการให้ความไว้วางใจเพื่อส่งมอบธุรกิจให้สืบทอด

(ขอบคุณรูปจาก Titiwoot Weerawong, www.vecteezy.com)

นอกจากนี้คุณเจยังได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเกิดความขัดแย้งเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจถึง 7 ประเด็น ได้แก่

  1. ปัญหาด้านการสื่อสาร ครอบครัวขาดการสื่อสาร ลามถึงการลืมให้เกียรติทางคำพูดซึ่งกันและกัน
  2. การนำข้อมูลแต่ละชุดมาต่อสู้กัน จนทำให้เกิดการพิทาท
  3. การขาดธรรมาภิบาลครอบครัว หมายรวมถึงมีการนำความไว้วางใจมาพัวพันกับระบบการจัดการ และการคำนึงถึงแต่เรื่องส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ก็นำมาสู่การพิพาทภายในได้
  4. โครงสร้างธุรกิจครอบครัว นั่นคือการขาดความสมดุลระหว่างอำนาจและผลประโยชน์
  5. ผลประโยชน์เชิงเปรียบเทียบ นั่นคือการเปรียบเทียบกันเองจนนำมาสู่ปัญหา
  6. ค่านิยมและความเชื่อที่ต่างกันของคนแต่ละเจน ทางที่ดีคือควรหาค่าตรงกลางระหว่างกัน เพื่อนำมาเชื่อมความสัมพันธ์ ยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
  7. อดีตที่ฝังใจ ที่อาจนำมาเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกันในเรื่องของการทำงาน

การจัดธรรมนูญครอบครัว หรือการสร้างกติกากลางร่วมกัน การอัปเดตกติกาต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ หรือแม้แต่การยึดหลักความเสียสละ ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยลดความขัดแย้งภายในได้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles