Krungthai COMPASS มองกระแสการลงทุน Data Center เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทย ดันเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.41 แสนล้านบาท

Krungthai COMPASS คาดว่า ขนาด Data Center ในไทย จะเพิ่มขึ้นถึง 10.8 เท่า ในช่วงปี 2566-71 ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นราว 2.41 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของ 1) ผู้ให้บริการระบบ Cloud ชั้นนำของโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok 2) กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าลงทุน Data Center ตั้งแต่ก่อนปี 2566 เช่น NTT Global Data Center 3) กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center นอกเหนือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่ทยอยขอการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น CtrlS NextDC และ EDGNEX

แนวโน้มการลงทุน Data Center ดังกล่าวคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการพัฒนา Data Center ราว 9.26 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวมากที่สุดคือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคาร ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ราว 3.60 หมื่นล้านบาท

เพื่อดึงดูดให้บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกลงทุน Data Center ในไทยมากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถขยายโคร่งข่ายสายเคเบิล รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center สามารถซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนโดยตรง ผ่านระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ อีกทั้งเพิ่มบุคลากรด้านไอทีของไทยผ่านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอทีระยะสั้นที่เน้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการ Cloud Solution และ Data Center ชั้นนำในและต่างประเทศหลายแห่งมีแผนที่จะเดินหน้าขยายการลงทุน Data Center ในไทยอย่างต่อเนื่องในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ขนาด Data Center ซึ่งวัดจากกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในการให้บริการ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าขนาด Data Center ในไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 67 เมกะวัตต์ในปี 2566 เป็น 721 เมกะวัตต์ในปี 2571 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60.8% CAGR ซึ่งมาจากการลงทุนของผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุน Data Center ในไทยตั้งแต่ก่อนปี 2566
2.กลุ่มผู้ให้บริการ Cloud Solution และ Data Center ชั้นนำโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok ซึ่งคาดว่าจะขยายขนาด Data Center ในไทยราว 290 เมกะวัตต์4
3.กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center นอกเหนือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่ทยอยขอการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
4.กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center ในประเทศ เช่น บจก.จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ADVANC SINGTEL และ GULF ซึ่งคาดว่าจะลงทุน Data Center ราว 40 เมกะวัตต์4

แม้ว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา Data Center ในช่วงปี 2567-71 จากการประเมินข้างต้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำโลก ยังแสดงความสนใจที่จะลงทุน Data Center ในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกด้วย เพื่อให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุน Data Center ได้มากขึ้นในอนาคต

แนวทางในการปรับตัวเพื่อดึงดูดการลงทุน Data Center จากต่างประเทศ
ปัจจุบัน ไทยมีความสามารถในการรองรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศน้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย รวมทั้งยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนหลักของ Data Center สูงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนใน Data Center จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกลดลง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน Data Center ในไทย ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยสามารถปรับตัวตามแนวทาง ดังนี้
1.เพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายของการเชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตด้วยการขยายโคร่งข่ายสายเคเบิล เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของไทย โดยปัจจุบันไทยมีสถานีเคเบิลใต้น้ำ 9 แห่ง ซึ่งน้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ 27 21 15 และ 10 แห่ง ตามลำดับ จึงทำให้ไทยมีความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศน้อยกว่าประเทศเหล่านั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ไทยสามารถขยายการลงทุนสถานีเคเบิลใต้น้ำเพื่อให้ไทยสามารถรองรับการจัดเก็บข้อมูลจากต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งช่วยดึงดูดให้ผู้ให้บริการ Data Center จากต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากขึ้น

2.อนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center สามารถซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนโดยตรงผ่านระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการระบบ Cloud และ Data Center ที่มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาที่ถูกลงและได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยค่าไฟฟ้าในปี 2567 ของไทยอยู่ราว 4.18 บาท/หน่วยไฟฟ้า ซึ่งสูงกว่าค่าไฟฟ้าของบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ราว 2.67 และ 2.52 บาท/หน่วยไฟฟ้า

ดังนั้น ภาครัฐสามารถอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center ซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของภาคเอกชน (Solar Power Plant ของเอกชน) โดยตรงผ่านระบบสายส่งแลจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ และคิดค่าบริการระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าไม่เกิน 0.16 บาท/หน่วยไฟฟ้า เพื่อใหผู้ประกอบการData Center สามารถเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาที่ไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ให้บริการ Data Center จากต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากขึ้น

3.เพิ่มบุคลากรด้านไอทีของไทยผ่านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอทีระยะสั้น โดยไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ด้านดิจิทัลน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อีกทั้ง ยังขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีจำนวนมาก จึงทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีเลือกตั้งสำนักงานในประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านไอที ภาครัฐสามารถขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านไอทีเข้มข้นระยะสั้นที่เน้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงและมีการฝึกงานกับภาคเอกชน ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของประเทศสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านไอทีที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

ขนาด Data Center ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60.8%CAGR ในช่วงปี 2566-71 ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของผู้ให้บริการ Data Center และระบบ Cloud ชั้นนำของโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าลงทุน Data Center ตั้งแต่ก่อนปี 2566 เช่น NTT Global Data Center และกลุ่มผู้ให้บริการ Data Center นอกเหนือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่ทยอยขอการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น CtrlS NextDC และ EDGNEX ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นในการพัฒนา Data Center ราว 2.41 แสนล้านบาท

แนวโน้มการลงทุน Data Center คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในอุปทานการพัฒนา Data Center ราว 9.26 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการลงทุนดังกล่าวมากที่สุด คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคารเพื่อดึงดูดให้บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกลงทุน Data Center ในไทยมากขึ้น ในระยะข้างหน้า ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถขยายโคร่งข่ายสายเคเบิล รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center สามารถซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนโดยตรงผ่านระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ และสามารถเพิ่มบุคลากรด้านไอทีของไทยผ่านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอทีระยะสั้นที่เน้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles