หน้าร้อน อาจได้หนาว ลุ้นค่าไฟพีค ดันต้นทุนพุ่ง สินค้าพาเหรดขึ้นราคา ทั้งกาแฟ กะทิ น้ำหวาน สุดท้ายประชาชนรับกรรม ต้องจำใจจ่ายแพง

ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกหรือตามที่พญากรณ์อากาศว่าบ้านเรานั้นได้ก้าวเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว เมื่อนึกถึงหน้าร้อนหลายคนคงจะนึกถึงค่าไฟฟ้า ที่เตรียมพุ่งตามสภาพอากาศและปริมาณการใช้ไฟ เพราะเชื่อว่าหลายบ้านจะต้องเปิดแอร์ เพื่อให้คลายร้อนกันบ้าง แต่เมื่อใช้เยอะก็ต้องจ่ายเยอะ

ในมุมของผู้ประกอบการ สายการผู้ผลิต นั้น ค่าไฟก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน ดังนั้น บางสินค้าก็อาจจะมีปรับขึ้นราคา

คุณสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ได้รับการแจ้งล่วงหน้าจากพนักงานจัดส่งสินค้าในหลายสินค้ากลุ่มเพื่อการคลายร้อนและบริโภคสูงในหน้าร้อน เตรียมขึ้นราคาสินค้า ล่าสุดได้รับการแจ้งจากน้ำหวานเข้มข้นยี่ห้อดัง แจ้งว่าเตรียมปรับขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นหัวน้ำหวานที่ใช้ผสมกับเครื่องดื่มและอาหารปรุงสำเร็จ เมื่อวัตถุดิบขึ้นจะส่งผลต่อราคาต้นทุนแปรรูปอาหาร หรือเครื่องดื่มสูงขึ้น อาจต้องปรับขึ้นราคาตามไปด้วย ซึ่งปกติจะหลังจากขึ้นราคา 15-30 วัน ตอนนี้ผู้บริโภคหรือธุรกิจเองก็เจอหลายเรื่องโจมตีความเป็นอยู่ ทั้งเรื่องต้นทุนลงทุนสูง หรือหุ้นร่วง กระทบกำลังซื้อคนระดับกลางถึงบนก็ไม่น้อย

<น้ำหวานจ่อขึ้นราคา 1 เม.ย.68 นี้ >
เจ้าของร้านค้ารายหนึ่งระบุว่า มีการแจ้งจากพนักงานแล้วว่า น้ำหวานเข้มข้น “เฮลซ์บลูบอย” เตรียมขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งปกติราคาจะเกิน 60 บาทต่อขวด ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ผู้บริโภคและร้านค้านิยมนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปรุงเครื่องดื่มและขนมเพื่อคลายร้อน ก็อาจมีผลต่อราคาสินค้าอื่น ๆ ปรับราคาในระยะถัดไป ส่วนอัตราปรับขึ้นนั้น ปกติจะอยู่ที่ 5-10%

แต่ก่อนหน้านี้ น้ำหวานเฮลซ์บลูบอยได้ปรับราคาขึ้นมาแล้ว ประมาณ 2 บาทต่อขวด จาก 63 บาท เป็น 65 บาทต่อขวด คาดว่าน่าจะะมีปรับขึ้นอีกในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้มีสินค้าหลายรายการที่มีการปรับราคาต้นทุนและราคาขายขึ้น รวมถึงมีทั้งลดขนาดปริมาณลง เพื่อให้สามารถขายในราคาเดิม มีหลากหลายรูปแบบที่ผู้ผลิตจะดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมาก เพราะหากขึ้นราคาสูงเกินไปก็ขายลำบาก เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ

<ภาษีความหวาน เป็นหนึ่งในต้นทุนที่เพิ่ม? >
หนึ่งในต้นทุนของราคาสินค้ากลุ่มให้ความหวาน นั่นก็คือภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตได้เริ่มเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลหรือ ภาษีความหวาน มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และล่าสุดยังอยู่ในระยะที่ 3 โดยกำหนดปริมาณน้ำตาลไว้ ดังนี้
-ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษี 0 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0 บาทต่อลิตร
-ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0.1 บาทต่อลิตร
-ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0.3 บาทต่อลิตร
-ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 1 บาทต่อลิตร
-ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 3 บาทต่อลิตร
-ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 5 บาทต่อลิตร

และจะเก็บอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบเต็มเพดาน ในระยะที่ 4 ปี 2568 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ในระยะนี้ อัตราภาษีจะถูกปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะถูกเก็บภาษีเพิ่มจาก 3 บาทเป็น 5 บาทต่อลิตร

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองว่าจากการขึ้นภาษีความหวานนี้ ผู้บริโภคอาจต้องรับผลกระทบจากการผลักภาระภาษีความหวานผ่านการขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยแต่อ้างภาระภาษี เพราะหากไม่มีการควบคุมราคา ตามธรรมชาติของเครื่องดื่มส่วนใหญ่ถูกจัดในกลุ่มสินค้าที่มีความยืดหยุ่นอุปสงค์ต่อราคาที่ต่ำ (Low Price Elasticity of Demand) จากราคาต่อหน่วยที่ไม่สูง ส่งผลให้การขึ้นราคามักไม่กระทบต่อการตัดสินใจซื้อ จึงกลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการขยับราคาจากเหตุต้นทุนภาษีความหวาน และส่งผลให้ผู้บริโภคมีค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

ที่ผ่านมากลุ่มเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากภาษีความหวาน เช่น กลุ่มน้ำอัดลม ราคาปรับเพิ่มขึ้น 18-40% (ขึ้นกับขนาดราคาขายในแต่ละบรรจุภัณฑ์) หรือในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนบังคับภาษีความหวาน สะท้อนให้เห็นความสามารถในการส่งผ่านภาระต้นทุนต่าง ๆ ของผู้ผลิตสู่ภาระฝั่งผู้บริโภค

<ราคากาแฟชง 3 in 1 ชิงขึ้นก่อนแล้ว>
คุณมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง จังหวัดอุดรธานี ได้เคยเปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปแบบชงเอง 4 แบรนด์หลัก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยปรับราคาขายขึ้น ในส่วนของกาแฟดำ 21% เช่น กาแฟซองขนาด 70 กรัม จากราคา 64 บาทต่อซอง เป็น 76 บาทต่อซอง หรือปรับขึ้น 12 บาทต่อซอง นอกจากนี้ มีปรับกาแฟทรีอินวันปรับขึ้น 16% จากราคา 109 บาทต่อแพค (27 ซอง) เป็น 125 บาทต่อแพค หรือปรับขึ้น 16 บาท โดยทางผู้ผลิตให้เหตุผลว่า เนื่องจากเมล็ดกาแฟในตลาดโลกมีการปรับราคาสูงขึ้นมาก ประกอบกับไม่มีสต๊อกสินค้า ทำให้ต้องดันราคาขายขึ้น ตามต้นทุนและวัตถุดิบที่ปรับขึ้น

<กะทิแบรนด์ดัง ทยอยขึ้นราคา 2-5 บาท >
ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง เปิดเผยว่า หลังจากได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายกะทิสำเร็จรูป(กล่องและขวด) ทุกยี่ห้อ จะปรับราคาขายกะทิกล่อง ขึ้น 2 ครั้ง ภายในเดือนมีนาคม 2568 นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มทยอยปรับราคาแล้ว 1 ยี่ห้อ ตั้งแต่ 2-5 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด โดยขนาด 1,000 มล. แบบบรรจุขวด ปรับขึ้น 3 บาท จาก 70 บาท เป็น 73 บาทต่อขวด ส่วนแบบกล่อง ปรับขึ้น 5 บาท จาก 70 บาท เป็น 75 บาทต่อกล่อง

ขณะที่ขนาด 500 มล. ปรับขึ้น 2 บาท จาก 40 บาท เป็น 42 บาทต่อกล่อง หลังจากนี้คงจะมียี่ห้ออื่นๆ ปรับขึ้นตามมา

<ค่าไฟหน้าร้อนหนึ่งในตัวการสูบเงิน ดันต้นทุนพุ่ง>
แม้ตอนนี้ยังไม่ทันถึงช่วงที่ร้อนสุดของปี แต่การใช้ไฟบ้านก็เริ่มเห็นแนวโน้มพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับสภาพอากาศ หากจะสังเกตดีๆว่า ต่อให้เปิดใช้เท่าเดิม ทั้งจำนวน และเวลาใช้ แต่เครื่องไฟฟ้าก็กินไฟเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพวกเครื่องทำความเย็นที่ทำงานหนักขึ้น เพราะต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ต่อเนื่อง ต่อให้อากาศด้านนอกจะร้อนขนาดไหนก็ตาม อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้ระยะเวลาใช้เท่าเดิม หรือตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม

โดยอัตราค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ม.ค.-เมย.68 ) อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่รัฐบาลประกาศลดลงมาเป็นของขวัญปีใหม่ช่วงต้นปี แต่ทว่าช่วงนี้ ไปจนถึงเมษายน -พฤษภาคมบ้านเราถือว่าร้อนระบุ แบบซ้อมตกนรก ประหยัดแค่ไหนก็น่าจะแพงอยู่ดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้าผู้ผลิตสินค้าบางอย่าง จะอ้างว่ามีต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า

ในงวดถัดไป พ.ค.- ส.ค.2568 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่ได้เคาะอัตราที่ชัดเจน โดยระบุว่าต้องรอดูต้นทุนค่าเชื้อเพลิงประเภทเชื้อเพลิง และอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทว่าเป็นอย่างไร ประกอบการพิจารณา ซึ่ง กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดสาธารณะเห็นวันที่ 7 มี.ค.2568 และต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนประกาศอัตราค่าไฟอย่างเป็นทางการ

เมื่อ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ให้กับคณะกรรมาธิการการพลังงาน โดยเสนอ 8 มาตรการ เพื่อให้ค่าไปถูกลงมา 89 สตางค์ต่อหน่วย

ไฮไลท์อยู่ที่ข้อเสนอเรื่องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ในอัตรา 7% คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 0.3224 บาทต่อหน่วย และการปรับลดเกณฑ์อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ใช้ในการคำนวณรายได้ที่พึงได้รับของการไฟฟ้าให้เป็นไปตามประมวลรัษฎากรจาก 30% ลดลงเหลือ 20% จากผลการพิจารณาศึกษาจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 0.0174 บาทต่อหน่วย (อ้างอิงข้อมูล ปี 2566) รวมทั้งอีก 6 แนวทาง เกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่างๆ ที่ยังคงต้องลุ้นว่าจะลดได้แค่ไหน หรืออาจจะไม่ได้ลดเลย ซึ่งก็จะมีผลต่อทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ไม่ว่าค่าไฟจะลดหรือไม่ลดก็ตาม

<หน้าร้อนใช้จ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร>
นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย คาดว่าในเดือนเมษายนปีนี้ อาจมีหลายสินค้าถือโอกาสปรับราคา ยิ่งสินค้าจำเป็นใช้หน้าร้อน แต่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ดี แต่บางส่วนเห็นว่าเป็นช่วงปรับราคาเพื่อทดแทนรายได้ที่ลดลงได้ โดยมองว่าหน้าร้อนปกติอย่างไรก็คึกคัก แต่ควรคึกคักระดับสูงกว่าควรจะเป็น หากไม่เจอเรื่องเงินใช้จ่ายไม่ดี ซึ่งแรงกดดันต่อการใช้จ่ายสะสมจากปัจจัยเดิม ๆ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อยังกระจุกตัว

โดยจากการสำรวจการค้าขายในจังหวัดต่าง ๆ พบว่าการค้าขายของรายเล็กในต่างจังหวัด ขายสินค้าได้ยากขึ้นถึงขายไม่ได้เลยในวันปกติ บางรายนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าก็เจอค่าเช่าพื้นที่สูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับยอดขาย จึงไม่คุ้มต้นทุนหรือต่ำกว่าคาดไว้ ขาดทุนกันก็ไม่น้อย จึงมองว่า เงินเตรียมที่จะใช้จ่ายเพื่อกินเที่ยวหน้าร้อนนี้จะไม่สูง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังกังวล มาตรการรัฐว่าที่จะออกมาตรงจุดแค่ไหน แจกเงินแบบใดเพียงพอฟื้นกำลังซื้อ รวมถึงปัจจัยนอกอย่างปัญหานโยบายทรัมป์ 2.0 ผสมกับการค้าขายเจอต้นทุนสูง จากค่าเช่าพื้นที่ ค่าเข้างานแสดงสินค้า ค่าขนส่ง รายเล็กอยากให้รัฐเปิดจุดขายที่มีต้นทุนต่ำ ค่าเช่าต่ำ หรือใช้ระบบรางขนย้ายผลผลิตแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้สินค้าจากแหล่งชุมชนได้เข้าเมืองง่ายขึ้น เพราะตอนนี้มีการค้าปลีกสมัยใหม่ เข้าไปเจาะเปิดตามชุมชน ดึงรายได้ที่ควรหมุนเวียนในชุมชนออกไปมาก

<อยากให้ขายเหล้า-เบียร์ กระตุ้นบรรยากาศใช้จ่าย>
ผู้ประกอบการค้าปลีก ยังลุ้นว่าเทศกาลสงกรานต์จะกระตุ้นบรรยากาศการใช้จ่ายได้มากขึ้น และยังลุ้นว่ามาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 3 จะมาสนับสนุนเพิ่ม อีกทั้งยังอยากให้รัฐบาลปลดล็อกเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ช่วงบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็นด้วย เพื่อให้การซื้อขายมีความต่อเนื่อง ซึ่งการซื้อขายเหล้า เบียร์ เงียบเหงาและทรงตัวมานานแล้ว

การปรับขึ้นราคาสินค้าหลักๆก็มาจากการอ้างอิงถึงต้นทุน ที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นในมุมของผู้ประกอบการ แต่ในท้ายที่สุดภาระก็จะต้องตกอยู่ที่ประชาชน ผู้บริโภค ที่อยู่ปลายทาง ที่ต้องกินต้องใช้ แต่รายจ่ายแทบจะปริ่มชนเพดาน ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นแบบกระท่อนกระแท่น นอกจากจะพึ่งตัวเองแล้ว เชื่อว่าหลายคนก็ยังหวังให้เศรษฐกิจมันดีขึ้นจริงๆในเร็ววัน จะด้วยตัวของมันเองหรือด้วยการนำพาของรัฐบาลก็ตาม …

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles