นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่าจากความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น TISCO ESU ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% โดยยังไม่นับรวมหากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยโดยตรง และมองว่า GDP ยังมีดาวน์ไซด์มีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้เพียง 2.1% ต่ำกว่าปี 67 ที่ขยายตัว 2.5%
โดยความเสี่ยงที่จะกระทบต่อ GDP ไทยปีนี้ ได้แก่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่อาจพลาดเป้า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง หลังจากกระแสข่าวลบช่วงต้นปีที่กระทบต่อความเชื่อมั่น มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า หรือถ้าออกนอกประเทศก็จะเดินทางพื้นที่ไกล ฝั่งยุโรป ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย มองว่าอาจต้องปรับลดเป้านักท่องเที่ยวลงประมาณ 2 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ (Reciprocal Tarif) ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.35-0.50 bps โดยความเป็นไปได้ที่สหรัฐ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่ม ต้องดูที่ส่วนต่างอัตราภาษีระหว่างสหรัฐและไทย ที่เรียกเก็บในปัจจุบันซึ่งมีส่วนต่างประมาณ 5% อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสินค้าที่ถูกเรียกเก็บเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันสินค้าหลักที่ถูกส่งออกไปยังสหรัฐ อาทิ เครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล โซลาร์รูฟท็อป ยางพาราโดยเฉพาะยางรถยนต์ กลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงเป็นอันดับต้น ๆ
อีกทั้งยังมีความกังวลจากภาคการผลิตซึ่งชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 67 และนำเข้ามากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจากจีน และการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งปีที่แล้วคาดการณ์ว่าปี 68 จะมีการลงทุนจำนวนมากจากยอดการขอ BOI แต่หากไทยถูกเรียกเก็บภาษี ประเมินว่ามีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยกเลิกแผนการลงทุน แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนในการผลิต เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง แผนวงจรไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ รวมไปถึง Data Center ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้พลังงานสะอาดและสามารถเจรจากับเอกชนให้ราคาค่าไฟถูกลงได้ ซึ่งมีการขอการลงทุนไปแล้วแต่ยังไม่เห็นความคืบหน้า คาดหวังให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการ ก่อนที่ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ โดยครึ่งแรกมองว่ายังเติบโตได้ระดับ 3% จากส่งออกและการเร่งเบิกจ่ายงบ แต่ครึ่งหลังคาดโตระดับ 2% ยังไม่รวมผลกระทบกำแพงภาษีและท่องเที่ยวจีนจะไม่กลับมา
อย่างไรก็ตามมองว่าปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ คือการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายงบลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ แต่ต้องติดตามต่อว่าโครงการต่าง ๆ จะสามารถผ่านร่างกฎหมายและดำเนินการแล้วเสร็จได้ในปีนี้หรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นความเสี่ยงที่ปีนี้อาจไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนจากโครงการใหญ่ ๆ ของภาครัฐ แต่การลงทุนในโครงการเล็ก ๆ หลายโครงการอาจหนุนเศรษฐกิจให้โตได้ แต่อาจชะลอบ้างจากปีก่อน
ด้านนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.00% ในการประชุมครั้งแรกของปี สวนทางกับท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนหน้านี้ โดยกนง. ให้เหตุผลว่าภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ และความเสี่ยงด้านลบเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยังย้ำว่าเป็นการ “ปรับสมดุลของดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง”
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ที่ 2.8% คาดว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ตลอดทั้งปี แต่หากได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกราว 1 – 2 ครั้ง ในปีนี้หรือลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ต่อปี โดยขึ้นอยู่กับในระยะข้างหน้าจะมี Negative Shock เข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่โดยต้องจับตารายละเอียดนโยบายสงครามการค้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้