นายสันติ ภัยหลบลี้ เจ้าของเฟสบุ๊ก และเว็บไซต์ Mitearth โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.7 แมกนิทูดในประเทศเมียนมา ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพ-ปริมณฑลของประเทศไทยในวันนี้ มีดังนี้
รอยเลื่อน สะกาย พม่า ตัวนี้เลยครับที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว 7.7 วันนี้ รายละเอียดมีดังนี้ รอยเลื่อนสะกาย – ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า ในบรรดารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่คนไทยรู้จักกัน รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ซึ่งจากการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี (2557) ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายมีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) และยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน
ตลอดแนวรอยเลื่อนสะกาย พบภูมิประเทศที่แสดงถึงการปริแตกของเปลือกโลกอยู่หลายแบบ เช่น ผารอยเลื่อน (fault scarp) เนินเขาขวาง (shutter ridge) หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ทางน้ำหัวขาด (beheaded stream) และทางน้ำหักงอ (offset stream) ซึ่งภูมิประเทศเหล่านี้ช่วยยืนยันว่ารอยเลื่อนสะกายมีการเลื่อนตัวแบบ เหลื่อมข้างชนิดขวาเข้า (dextral strike-slip fault)
ธรณีแปรสัณฐานของสะกาย ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic setting) นักธรณีวิทยา (Curray, 2005) เชื่อว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และ แผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)
อย่างไรก็ตาม ผลจากการเคลื่อนที่ในปัจจุบันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) เข้าชนยูเรเซียในแนวตะวันออกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ ทำให้รอยเลื่อนสะกายซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเก่าที่ยังไม่เชื่อมกันสนิทดี ขยับตามไปด้วย โดยจากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างหินแปรบริเวณเมืองโมกก (Mogok metamorphic belt) ที่เกิดจากการเบียดบี้กันของแผ่นซุนดาและแผ่นพม่า สรุปว่ารอยเลื่อนสะกายเริ่มขยับตัวแบบเป็นจริงเป็นจรังเมื่อประมาณ 16–22 ล้านปี ที่ผ่านมา (Searle และคณะ, 2007)
นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลเพื่อระบุตำแหน่งพื้นโลกจากเครื่องจีพีเอสความละเอียดสูง ที่ติดตั้งกระจายทั่วประเทศพม่า นักธรณีวิทยา (Nielsen และคณะ, 2004; Socquet และคณะ, 2006 ) พบว่าปัจจุบันแผ่นเปลือกโลกอินเดียวิ่งชนยูเรเซียด้วยอัตราเร็ว 35 มิลลิเมตร/ปี และมีการถ่ายเทแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress) เข้ามาภายในแผ่นยูเรเซีย ทำให้รอยเลื่อนสะกายมีอัตราการเคลื่อนตัวหย่อนๆ ลงมาที่ 18 มิลลิเมตร/ปี แต่ก็ยังถือว่าเร็วและดุพอสมควรถ้าเทียบกับรอยเลื่อนส่วนใหญ่ของไทย